ไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน(1)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Phuwiangosaurus sirindhornae,
Martin, Buffetaut and Suteethorn, 1994
นิรุกติศาสตร์:
- Phuwiangosaurus คำนี้เป็นชื่อ “สกุล” (Genus) ทางวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์ชนิดนี้
โดยมีหลักการตั้งชื่อดังนี้ คือ คำว่า Phuwiangosaurus เป็นการสนธิคำระหว่างคำว่า
“ภูเวียง” คือ สถานที่ที่พบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ชนิดนี้ กับคำว่า “Saurus”
ซึ่งเป็นภาษาละติน ที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณคำว่า “sauros” แปลว่ากิ้งก่า
หรือ ตะกวด ดังนั้น ชื่อนี้จึงแปลได้ว่า “กิ้งก่าแห่งภูเวียง”
- sirindhornae คำนี้เป็นชื่อ “ชนิด” (Species) ทางวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์ชนิดนี้
ซึ่งเป็นพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน ที่ทรงสนพระทัยติดตามการค้นพบทางโบราณชีววิทยาในประเทศไทย
ด้วยการแปลงพระนาม “สิรินธร” เป็นรูปภาษาอังกฤษคือ “Sirindhorn” จากนั้น
ตามหลักการตั้งชื่อ “ชนิด” ว่า ในกรณีที่ชื่อที่จะตั้งเพื่อเป็นเกียรตินั้น
เป็นชื่อผู้หญิง ให้เติม “ae” ที่ท้ายคำ ดังนั้น จึงได้คำว่า “sirindhornae”
การค้นพบไดโนเสาร์ในประเทศไทย:
เรื่องราวการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ (fossil) ของไดโนเสาร์ในประเทศไทย
มีที่มาจากโครงการสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียมของกรมทรัพยากรธรณี ที่อำเภอภูเวียง
จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยนายสุธรรม แย้มนิยม ได้ขุดค้นพบซากไดโนเสาร์ชิ้นแรก
ที่บริเวณห้วยแห้งเล็กๆ ชื่อห้วยประตูตีหมา ในอำเภอภูเวียง
เป็นซากดึกบรรพ์ของกระดูกท่อนขาสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 1 ฟุต
เมื่อนำไปเทียบกับกระดูกไดโนเสาร์ชนิดต่างๆ พบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับไดโนเสาร์ในกลุ่มที่เรียกว่า
ซอโรพอด(2) ซึ่งได้แก่ไดโนเสาร์คัมมาราซอรัส (Camarasaurus)(3)
ที่มีอายุอยู่ในช่วงยุคจูราสสิค(4) ตอนปลาย ถึงยุคครีเตเชียส(5)
ตอนต้น (Late Jurassic - Early Cretaceous Period) เมื่อประมาณ 150 - 130 ล้านปีมาแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาถึงรายละเอียดแล้ว พบว่า ซากดึกดำบรรพ์ที่พบที่ภูเวียงนี้
มีข้อแตกต่างกันหลายจุด และยังพบอีกว่า คล้ายคลึงกับไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด
ที่พบในประเทศจีนมากกว่า แต่ก็ยังไม่เหมือนกันทีเดียว
การค้นพบครั้งนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักโบราณชีววิทยา
(Paleontologist) ชาวฝรั่งเศส
จึงได้เริ่มมีโครงการค้นหาซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2523
โดยจัดตั้งโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส
เป็นคณะสำรวจทางโบราณชีววิทยาไทย-ฝรั่งเศส มีภารกิจในการร่วมมือกันดำเนินการสำรวจ
ศึกษาวิจัย และขุดค้นหาซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. 2524 นักธรณีวิทยาจากหน่วยสำรวจแร่ยูเรเนียม
ได้พาคณะสำรวจทางโบราณชีววิทยาดังกล่าว
ขึ้นไปยังจุดที่พบกระดูกไดโนเสาร์อีกแห่งหนึ่งบนยอดภูประตูตีหมา ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 422 เมตร
ใกล้ๆ ยอดเขานั้น คณะสำรวจพบกระดูกขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่ง ฝังอยู่ในชั้นหินดินดานตื้นๆ หินยังไม่แข็งตัวนัก
ทำให้ขุดได้ง่าย และได้ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์สภาพดี เป็นกระดูกไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด จำนวน 2 ท่อน
การค้นพบร่องรอยใหม่ๆ ของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดที่ภูเวียงในครั้งนั้น
ได้นำไปสู่การศึกษาในรายละเอียด
ภายใต้ความร่วมมือระหว่างฝ่ายไทยกับฝรั่งเศส จนพบว่าซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ชุดนี้
เป็นของไดโนเสาร์ชนิดใหม่ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากที่เคยพบมาในส่วนอื่นๆ ของโลก การค้นพบครั้งนี้
เป็นรายงานการค้นพบไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และจากการสำรวจของคณะสำรวจฯ
ได้ขุดพบกระดูกของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดอีกหลายแห่ง และมีจำนวนมากพอที่จะทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด
คณะสำรวจ ฯ จึงได้ทำการคัดเลือกนักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีส
มาทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อเรื่อง
“ไดโนเสาร์ซอโรพอด ยุคครีเตเชียสตอนต้นของประเทศไทย” โดยมี ดร. วาเลรี มาร์แตง ดร. เอริค บุฟเฟอโตต์
และนายวราวุธ สุธีธร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา รายงานการศึกษาวิจัยเสร็จสิ้นและนำเสนอได้ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๗
โดยมีข้อสรุปว่า ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดดังกล่าว
ที่ขุดพบในประเทศไทยเป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่ของโลก คณะสำรวจ ฯ นำโดย ดร. วาเลรี มาร์แตง
ในนามของมหาวิทยาลัยปารีส จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จ-พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ขออัญเชิญพระนามาภิไธยของพระองค์เป็นชื่อไดโนเสาร์ชนิดใหม่ล่าสุดของโลกนี้
และได้รับพระราชทานพระราชานุญาต เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2537 ฉะนั้น
ไดโนเสาร์นี้จึงได้ชื่อว่า Phuwiangosaurus sirindhornae รายงานการวิจัยฉบับนี้
ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศส >Comptes Rendus de l’Acad?mie des Sciences,
T 319 Serie II sohk 1085 – 1092 เมื่อปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ.๒๕๓๗)
ยุคสมัยและลักษณะ:
ไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน
มีอายุอยู่ในช่วงยุคครีเตเชียสตอนต้น (130 ล้านปีมาแล้ว)
จัดเป็นไดโนเสาร์ที่อยู่ในกลุ่มซอโรพอด (Sauropod) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ
เป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่โตมาก มีคอและหางยาว ลำตัวมีความยาวประมาณ 15 - 20 เมตร
เดิน 4 เท้า กินพืชเป็นอาหาร แต่เดิมนั้น นักโบราณชีววิทยาเคยเชื่อว่า พวกซอโรพอด หรือ
ไดโนเสาร์คอยาวนี้ นิยมใช้เวลาส่วนใหญ่ของมันในน้ำ และอาศัยน้ำช่วยพยุงน้ำหนักอันมหาศาลของลำตัว
โผล่แต่ส่วนหัวขึ้นมาสอดส่องดูโลกภายนอก แต่เมื่อประมาณ 10 ปีมานี้
ได้มีการศึกษาเรียนรู้ความมหัศจรรย์ทางโครงสร้างลำตัวของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด จนทราบว่า
ท่อนขาหลังที่ดูบอบบางของพวกมัน ถูกออกแบบมาให้แบกรับน้ำหนักอันมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และรอยเท้าที่กลายเป็นหินของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดยังชี้ให้เห็นว่า ไดโนเสาร์กลุ่มนี้เป็นสัตว์บกอย่างเต็มตัว
ในประเทศไทยปัจจุบันพบว่า นอกจากจะพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน
ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นแล้ว ก็ยังพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ชนิดนี้ที่จังหวัดกาฬสินธุ์อีกด้วย
[ตรวจแก้ไขข้อมูลโดย นายตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)]
บรรณานุกรม
- “การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์”, ใน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 10,
(กรุงเทพฯ: โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,
หอรัษฎากรพิพัฒน์, 2540), หน้า 22 - 25.
- วราวุธ สุธีธร, “ความฝันของนักขุดไดโนเสาร์ไทย”, สารคดี ปีที่ 13 ฉบับที่ 149 (กรกฎาคม 2540): 89 - 95.
- วราวุธ สุธีธร, “ไดโนเสาร์ในประเทศไทย”, สารคดี ปีที่ 13 ฉบับที่ 149 (กรกฎาคม 2540): 96 - 100.
- เดวิท แลมเบิร์ต และ เดอะไดอาแกรมกรุ๊ป, รวมข้อมูลไดโนเสาร์ ฉบับสมบูรณ์, พิมพ์ครั้งที่ 1, (กรุงเทพฯ:
สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, 2536), หน้า 47, 129, 163.
- “Sauropoda”, in Webster’s new twentieth century dictionary unabridged, 2nd, (New York, Library Guild, Inc., 1965), p. 1612.
- http://www.lib.ru.ac.th/journal/longlive.html (เว็บไซต์ของสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง) (สืบค้น 24 กันยายน 2546)
- http://www.dinodata.net/Dd/Namelist/Tabp/P078.htm (สืบค้น 24 กันยายน 2546)
- ชื่อ Phuwiangosaurus sirindhornae ถ้าอ่านตามภาษาละตินต้องอ่านเป็น ฟูเวียงโกเซารุส สิรินธอร์นาย
ถ้าอ่านตามภาษาอังกฤษและตามกฎการอ่านชื่อวิทยาศาสตร์ ต้องอ่านเป็น ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรนี
ถ้าอ่านตามภาษาฝรั่งเศส ต้องอ่านเป็น ฟูเวียงโกโซรุส สิรินธอรเน
ดังนั้นการที่อ่าน สิรินธรเน เข้าใจว่า คำว่า เน คงอ่านตามแบบภาษาฝรั่งเศส เพราะ คำว่า nae ถ้าอ่านแบบภาษาละตินต้องอ่าน นาย
หรือ ไน อ่านแบบสากลคือภาษาอังกฤษต้องอ่านเป็น นี
- ชื่อ Phuwiangosaurus sirindhornae ถ้าอ่านตามภาษาละตินต้องอ่านเป็น ฟูเวียงโกเซารุส สิรินธอร์นาย
ถ้าอ่านตามภาษาอังกฤษและตามกฎการอ่านชื่อวิทยาศาสตร์ ต้องอ่านเป็น ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรนี
ถ้าอ่านตามภาษาฝรั่งเศส ต้องอ่านเป็น ฟูเวียงโกโซรุส สิรินธอรเน
ดังนั้นการที่อ่าน สิรินธรเน เข้าใจว่า คำว่า เน คงอ่านตามแบบภาษาฝรั่งเศส เพราะ
คำว่า nae ถ้าอ่านแบบภาษาละตินต้องอ่านนาย หรือ ไน อ่านแบบสากลคือภาษาอังกฤษต้องอ่านเป็น นี
- ซอโรพอด (Sauropod) เป็นชื่อเรียกไดโนเสาร์กลุ่มกินพืช ที่มีรูปร่างใหญ่โต มีคอยาว หางยาว
และหัวเล็ก ชื่อภาษาอังกฤษนี้มาจากชื่อภาษากรีก-ละติน ของอันดับแยกย่อย (sub-order)
ของไดโนเสาร์กลุ่มนี้เรียกกันว่า ซอโรพอดา (Sauropoda) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า
Sauros แปลว่า กิ้งก่า กับ คำว่า podos แปลว่า เท้า)
- คัมมาราซอรัส (Camarasaurus) เป็นไดโนเสาร์ที่จัดอยู่ในวงศ์คัมมาราซอริดี (Camarasauridae)
ไดโนเสาร์ในวงศ์นี้เป็นนักกินพืชที่มีขนาดใหญ่โตมาก มี 4 ขา คอ และหางยาว มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายยุคจูราสสิค
ถึงปลายยุคครีเตเชียส ถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป อาฟริกา และเอเชีย
- ยุคจูราสสิค (Jurassic) มีอายุราว 213 - 144 ล้านปีมาแล้ว
เป็นช่วงกลางยุคของไดโนเสาร์ ชื่อจูราสสิค ได้มาจากชื่อของเทือกเขาจูรา
ที่อยู่ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์ ในยุคนี้เป็นยุคที่ไดโนเสาร์พวกซอโรพอด
ซึ่งเป็นสัตว์กินพืชที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เข้ามาแทนที่พวกโปรซอโรพอด
- ยุคครีเตเชียส (Creteceous) อายุราว 144 - 65 ล้านปีมาแล้ว เป็นยุคสุดท้าย
และยาวนานที่สุดของยุคไดโนเสาร์ ชื่อของยุคนี้มาจากภาษาละตินว่า คริเต (หินชอล์ก)
เพราะชั้นหินที่พบซากดึกดำบรรพ์นั้นเป็นชั้นหินที่ปนหินชอล์กที่พอกพูนขึ้นในยุคครี-เตเชียส
|