Column banner

พระราชกิจในฐานะทูตพิเศษโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกิจด้านการพัฒนาชุมชนมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทรงมองการพัฒนาอย่างเป็นกระบวนการที่จะต้องบูรณาการกิจกรรมหลาย ๆ ด้าน และต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดประสิทธิผล ประกอบด้วยกิจกรรมด้านการเกษตร อาหาร โภชนาการ สุขภาพอนามัย การศึกษา การฝึกอาชีพ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น และทรงให้ความสำคัญกับกิจกรรมในด้านอาหารและโภชนาการในลำดับต้น ๆ ดังที่ได้ทรงมีพระราชดำรัสในพิธีเปิดการประชุมโภชนาการแห่งเอเชียครั้งที่ ๔ เมื่อวันอังคารที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ ความตอนหนึ่ง ดังนี้

“...แม้ในประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเอเชีย ก็ยังมีปัญหาการขาดอาหาร ปัญหาทางสุขภาพอนามัย การเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่น่าจะรักษาหรือป้องกันได้ โดยการปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องอาหารการกิน ความสะอาด สุขลักษณะ สิ่งแวดล้อม  เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนั้น เด็กจำนวนไม่น้อยมีสภาพการขาดอาหาร เนื่องจากพ่อแม่ไม่ทราบถึงวิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ปฏิบัติกันไปตามความเคยชิน หรือขนบธรรมเนียมที่ได้รับการสั่งสอนมาชั่วลูกหลาน แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจว่า อาหารและโภชนาการเป็นรากฐานสำคัญของสุขภาพอนามัยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา...”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในอาหารและโภชนาการ อันเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่มีสิทธิได้รับสิ่งดี ๆ ในชีวิต โดยเฉพาะคนด้อยโอกาส หรือบุคคลชายขอบ ก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือ ได้รับการดูแลให้มีอาหารและโภชนาการที่ดีอย่างทั่วถึง ทรงยึดแนวคิดตามคำขวัญที่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานไว้เมื่อคราวองค์การอาหารโลกถวายเหรียญซีเรส ว่า “ให้โดยไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง – To Give Without Discrimination”  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ช่วยเหลือเด็กที่ยากไร้และขาดแคลน ให้มีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอและเหมาะสม ดังนั้น นอกเหนือจากกลุ่มเด็กนักเรียนในโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร อาทิ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ทรงช่วยเหลือด้านอาหารและโภชนาการของเด็กกลุ่มอื่น ๆ อีกมาก เช่น พระราชทานนมและอาหารเสริมแก่เด็กอ่อนและเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พระราชทานเงินค่าอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยม สามเณรที่กำลังศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรมในจังหวัดน่านและจังหวัดตาก เด็กนักเรียนชาวมุสลิมในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กนักเรียนในโรงเรียน ๖ จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ และเด็กนักเรียนในชุมชนแออัดในกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล เป็นต้น

พระราชกรณียกิจในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสด้านอาหารและโภชนาการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้เด็กวัยเรียนจำนวนมากมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีขึ้น ได้มีอาหารกลางวันบริโภคในทุกวันเรียน ลดปัญหาการขาดสารอาหาร เจ็บป่วยน้อยลง มีสุขภาพโดยรวมดีขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผลสัมฤทธิ์นั้นเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ ในเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงรับการทูลเกล้า ฯ ถวายตำแหน่งเกียรติยศ ทูตพิเศษโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ ด้านโครงการอาหารในโรงเรียน (United Nations World Food Programme’s Special Ambassador for School Feeding) โดยพิธีทูลเกล้า ฯ ถวายตำแหน่งจัดขึ้น ณ สำนักงานโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ 

การขอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวายตำแหน่งเกียรติยศนี้ มีที่มาจากการที่โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติได้ทราบถึงพระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารในประเทศไทยให้มีโอกาสได้รับอาหารและโภชนาการที่ดี จึงได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงรับตำแหน่งทูตพิเศษของโครงการ ฯ เพื่อจะได้ทรงนำประสบการณ์การทรงงานด้านอาหารและโภชนาการมาทรงให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อพัฒนาโครงการอาหารในโรงเรียน ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ
 
โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๐๖ โดยได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติจำนวนมาก ดำเนินงานในลักษณะองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ภารกิจหลักของโครงการ ฯ คือการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการขาดอาหารและภาวะทุพโภชนาการในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก โดยจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการส่งไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนเพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ จัดส่งอาหารให้ประชากรกว่า ๒ ล้านคนใน ๖ ประเทศชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียที่ประสบภัยจากคลื่นสึนามิ ในปี ๒๕๔๘ จัดส่งอาหารให้ประชากรชาวไนเจอร์กว่า ๑.๗ ล้านคนที่ตกอยู่ในภาวะประเทศยากจนที่สุดในโลกและประสบภาวะวิกฤตทางอาหารเนื่องจากภัยแล้งและภัยคุกคามจากฝูงตั๊กแตน เป็นต้น การดำเนินงานโครงการอาหารในโรงเรียนของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่เด็กนักเรียนในประเทศยากจนที่ไม่ได้บริโภคอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการ ฯ ได้ให้การช่วยเหลือด้านอาหารแก่เด็กนักเรียนไปแล้ว ๑๕ ล้านคน ใน ๖๙ ประเทศทั่วโลก และมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือเด็กนักเรียนให้ได้ถึง ๕๐ ล้านคนภายใน พ.ศ. ๒๕๔๙

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจในฐานะทูตพิเศษโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ โดยได้ทรงร่วมคณะไปกับคณะกรรมการโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ เสด็จ ฯ เยือนรัฐโอริสสา เพื่อทรงเยี่ยมพื้นที่ที่โครงการอาหารโลกได้ดำเนินโครงการอาหารในโรงเรียนอยู่ ในการนี้ ได้ทอดพระเนตรอาหาร โภชนาการ ความเป็นอยู่ของประชาชน ได้พระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุงภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียน และพระราชทานขนมปังกรอบเสริมธาตุเหล็กและสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ แก่เด็กนักเรียนชาวโอริสสา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความสำคัญของโภชนาการที่ดีต่อการศึกษา มีใจความตอนหนึ่งว่า “…During school visits, I have noticed that food plays an important part in the success of students. Malnutrition hinders the physical, mental and cognitive development of children…”  อันสะท้อนให้เห็นพระราชทัศนะได้อย่างชัดเจนว่า ทรงตระหนักถึงความสำคัญของอาหารว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสู่ความสำเร็จของนักเรียน ภาวะทุพโภชนาการนับว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็กนักเรียนในทุก ๆ ด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการเรียนรู้ หากเด็ก ๆ ได้รับอาหารและโภชนาการที่ดีตั้งแต่วัยเยาว์ ก็จะทำให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักยภาพที่จะเติบโตไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศชาติ