พระนามาภิไธยและนามพระราชทานพรรณพืชและสัตว์
นามพระราชทาน | : สิรินธรวัลลี | |
วันเดือนปี | : พ.ศ. 2540 | |
รายละเอียด | : สิรินธรวัลลี ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia sirindhorniae K. & S. S. Larsen, Nord. J. Bot. วงศ์ Leguminosae-Caesalpinioideae ชื่อพื้นเมือง สามสิบสองประดง ลักษณะทั่วไป ไม้เลื้อยมีมือเกาะลำต้นทอดยาวได้ 10-20 เมตร กิ่งอ่อน และช่อดอกมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมหนาแน่น กิ่งแก่เกลี้ยง ใบ เดี่ยวรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือหยักเว้าเล็กน้อยหรือแยกผ่าลึกถึงฐานใบ ช่อดอกเป็นกระจุกซ้อนกันแน่น ดอก มีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงคล้ายห่อกาบ มีแยกเป็นแฉกตามยาว 1-2 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองหรือส้มแดง ผล เป็นฝักแก่แล้วแตก เมล็ดแบน การกระจายพันธุ์ พืชถิ่นเดียวของไทย พบบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ออกดอกและติดผลประมารเดือน มิถุนายน-กันยายน ปี พ.ศ.2538 ดร.ชวลิต นิยมธรรม และคณะ ได้พบต้นเสี้ยวประหลาดที่บริเวณชายป่าดิบแล้งบนเทือกเขาในจังหวัดหนองคาย หลังจากทำการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าเสี้ยวดังกล่าวไม่มีลักษณะที่คล้ายหรือใกล้เคียงกับเสี้ยวอื่นๆ ที่เคยมีรายงานมาก่อน กระทั่งต่อมาเมื่อ ศ.ไค ลาร์เซน (Kai Larsen) ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ชาวเดนมาร์ก และภรรยา (อาจารย์ สุพีร์ ศักดิ์สุวรรณ ลาร์เซน) เดินทางมาตรวจสอบพันธุ์ไม้ ณ กรมป่าไม้ ดร.ชวลิต จึงส่งมอบเสี้ยวที่เก็บมาให้ท่านทั้งสองตรวจสอบอย่างละเอียด ผลปรากฏว่าเสี้ยวดังกล่าวเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ลักษณะเด่นคือมีกลีบเลี้ยงห่อคล้ายกาบ ซึ่งมีลักษณะที่ไม่เคยพบมาก่อนในกลุ่มสกุลย่อย Phanera การห่อตัวของกลีบเลี้ยงนี้เองที่บังคับให้กลีบดอกไม่สามารถกางออกได้เต็มที่เมื่อดอกบาน ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากเสี้ยวอื่นๆ อย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านทั้งสองจึงร่วมกับกรมป่าไม้ ขอพระราชทานพระราชานุญาต ใช้พระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระนามพระองค์ท่านที่ทรงสนพระทัย และให้การสนับสนุนงานทางพฤกษศาสตร์ตลอดมา โดยใช้ชื่อ Bauhinia sirindhorniae K.& S.S. Larsen หรือ สิรินธรวัลลี อันหมายถึง วัลยชาติแห่งองค์สมเด็จพระเทพฯ นั่นเอง | |
นามพระราชทาน | : ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร | |
วันเดือนปี | : พ.ศ. 2541 | |
รายละเอียด | : ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร ชื่อวิทยาศาสตร์ Streptocephalus sirindhornae Sanoamuang, Murugan, Weekers & Dumont, 2000 วงศ์ Streptocephalidae ชื่อสามัญ Freshwater fairy shrimp ที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ เป็นไรน้ำนางฟ้าชนิดใหม่ที่ตั้งชื่อชนิดตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน แหล่งที่พบครั้งแรก แอ่งน้ำชั่วคราวไม่มีชื่อใน ต.บ้านโนนเมือง ห่างจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปทางทิศเหนือ 2 ก.ม. จ.ขอนแก่น ตัวอย่างต้นแบบ Holotype ตัวเต็มวัยเพศผู้ และ Paratype เพศผู้และเมียอย่างละ 2 ตัวเก็บรักษาไว้ที่ British Museum (Natural History) และ Paratype เพศผู้และเมียอย่างละ 2 ตัวเก็บรักษาไว้ที่ the Royal Belgian Institute for Natural Science (K.B.I.N.) กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แห่งละชุด สถานภาพ ปัจจุบันสามารถเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ได้ ขายไข่แห้งและตัวแช่แข็ง การแพร่กระจาย จ.เลย, หนองคาย, หนองบัวลำภู, ขอนแก่น และมหาสารคาม แหล่งอาศัย แอ่งน้ำชั่วคราว และนาข้าว บันทึกการค้นพบ ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร เป็นไรน้ำนางฟ้าชนิดแรกที่ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2536 โดย ศาสตราจารย์ ดร.ละออศรี เสนาะเมือง พบตัวอย่างไรน้ำนางฟ้าเพศเมียก่อน หลังจากนั้นได้ทำการเก็บตัวอย่างเรื่อยมา กระทั่งปี พ.ศ. 2541 จึงได้ค้นพบไรน้ำนางฟ้าทั้งสองเพศที่โตเต็มที่ จากการตรวจสอบสัณฐานวิทยาโดยละเอียดพบว่าไรน้ำนางฟ้าดังกล่าวเป็นไรน้ำนางฟ้าชนิดใหม่ของโลก จึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญ พระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Streptocephalus sirindhornae และชื่อไทยว่า ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร แหล่งทุน โครงการ BRT รายงานที่ตีพิมพ์ Sanoamuang, L., G. Murugan, P.H.H. Weekers & H.J. Dumont, 2000. Streptocephalus sirindhornae, new species of freshwater fairy shrimp (Anostraca) from Thailand. Journal of Crustacean Biology 20: 559-565. | |