พระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์


ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนม์ ๕๐ พรรษาบริบูรณ์ นับเป็นมหามงคลสมัยอันประเสริฐยิ่ง กอปรด้วยเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินับได้หมื่นวันเศษ ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ฉลองสมโภช ทรงพระราชดำริ เพื่ออนุวัตรตามโบราณบูรพราชประเพณี อันมีมาแต่ก่อน

อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ทรงพระเจริญเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ ปฏิบัติพระองค์ตามขัตติยราชกุมารี สนองพระเดชพระคุณ ในพระราชภารกิจ ที่ทรงมอบหมายแทนพระองค์ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี กอปรทั้งมีพระหฤทัย เปี่ยมไปด้วยความรักชาติ ศาสนา และมีพระหฤทัยจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ในมหามงคลสมัย การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษานี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เพื่อเป็นพระเกียรติประวัติ ตามโบราณราชประเพณี ในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษานี้

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ตามควรเหมาะสม แก่กาลสมัย และการสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ โดยในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เสด็จออกมหาสมาคม และสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระสุพรรณบัฏ พระนามาภิไธย บรรจุในหีบทองคำลงยาพระปรมาภิไธยย่อ

วันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง

เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร เจ้าพนักงานชูพุ่มดอกไม้ทองให้สัญญา ชาวพนักงานกระทั่งแตรมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ขณะนั้น ทหารบก ทหารเรือ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัด สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร นายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคลตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบ จบแล้ว แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อาลักษณ์กองประกาศิต สำนักนายกรัฐมนตรี อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ให้ทรงรับพระราชบัญชา และสัปตปฎลมหาเศวตฉัตรเป็นพระเกียรติประวัติสืบไป

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เสด็จขึ้นไปหมอบเฝ้าฯ บนเกยหน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏที่พระเศียร ทรงเจิมที่พระนลาฏ แล้วพระราชทานพระสุพรรณบัฏ จารึกพระนามาภิไธย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์ และเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ขณะนี้ พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ แล้วมหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร เจ้าพนักงานชูพุ่มดอกไม้ทองให้สัญญา ชาวพนักงานประโคมเช่นเวลาเสด็จออก ทหารกองเกียรติยศถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทางพระทวารเทวราชมเหศวร์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทูลเกล้า ฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนแด่ 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

พระสุพรรณบัฏพระนามาภิไธย บรรจุหีบทองคำลงยาพระปรมาภิไธยย่อประดับเพชร พระสุพรรณบัฏพระนามาภิไธย และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ

ประกาศสถาปนา

(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงได้รับความสำเร็จในการศึกษาอย่างงดงาม และได้ทรงบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์ แก่ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย เบื้องต้น ได้ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ทรงสำเร็จการศึกษา สอบไล่ได้คะแนนเป็นที่ ๑ ของประเทศไทย ทั้งประโยคประถมศึกษา และประโยคมัธยมศึกษา แผนกศิลปะ ต่อมาทรงสอบคัดเลือก ได้เข้าศึกษาต่อ ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะ และพระปรีชาสามารถในการศึกษาเล่าเรียน จึงทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ตลอดทุกปีการศึกษา และทรงได้รับรางวัลคะแนนยอดเยี่ยมในวิชาต่าง ๆ อยู่เสมอ อาทิเช่น รางวัลคะแนนยอดเยี่ยมวิชาภาษาฝรั่งเศส และวิชาภาษาไทย เมื่อสำเร็จการศึกษา ก็ทรงได้คะแนนยอดเยี่ยมเป็นที่ ๑ ของคณะอักษรศาสตร์ ทรงได้รับปริญญาบัตร อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ ทรงได้รับคะแนนเฉลี่ย ๓.๙๘ จากคะแนนเต็ม ๔ ทั้งทรงได้รับรางวัลเหรียญทอง เรียนเยี่ยมตลอดหลักสูตรด้วย ปัจจุบันทรงศึกษาต่อระดับปริญญาโท ทั้งที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งนี้ ด้วยทรงตั้งพระหฤทัยแน่วแน่ ที่จะทรงนำวิชาการที่ทรงศึกษาทั้งนั้น มาทำประโยชน์แก่แผ่นดิน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ได้ทรงพระอุตสาหะ ปฏิบัติกิจการอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง และประชาชนโดยอเนกประการ ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน ไปในการทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ตำรวจ ทหาร ในภูมิภาคต่าง ๆ อยู่เสมอ ทุกแห่งหนแม้ในท้องถิ่นทุรกันดารมีภยันตราย ทำให้ทรงทราบถึงการดำเนินชีวิต ปัญหา และอุปสรรคความยากแค้นต่าง ๆ ของบุคคลเหล่านั้นเป็นอย่างดี โดยปรกติจะทรงปราศรัยทักทายกับราษฎรอย่างสนิทสนม ด้วยพระเมตตา ทำให้ราษฎรมีโอกาสที่จะกราบทูลถึงทุกข์สุขที่มีอยู่ได้ตามประสงค์ ทรงถือเป็นภาระที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขตอบแทนบุญคุณเหล่าทหาร ตำรวจ และพลเรือน ที่สละชีวิตและความสุขในการป้องกันประเทศชาติ ได้ทรงก่อตั้งมูลนิธิ ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า “มูลนิธิสายใจไทย” ขึ้น สำหรับอนุเคราะห์ทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่บาดเจ็บ พิการ ในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศชาติด้วยการดูแลให้ฝึกอาชีพ ตลอดจนดูแลช่วยเหลือครอบครัว ไม่ให้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ทรงดำรงตำแหน่ง องค์ประธานของมูลนิธิ และทรงควบคุมบริหารงานอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้นับว่า ได้ทรงทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง และประชาชน ในประการที่สำคัญประการหนึ่ง ในด้านการพัฒนาประเทศ ทรงสนพระหฤทัยในกิจการพัฒนาทุกแขนง ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงศึกษา และช่วยเหลือ ในกิจการโครงการตามพระราชดำริ ทุกโครงการ ทรงทำหน้าที่เป็นราชเลขานุการส่วนพระองค์ ทรงรับพระบรมราโชบาย และพระราชดำริ มาทรงดำเนินการสนองพระเดชพระคุณ ทั้งในงานด้านเกษตร และด้านการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎร นับเป็นการดูแลสอดส่อง พระราชกรณียกิจส่วนหนึ่ง ต่างพระเนตรพระกรรณ ได้เสด็จไปทอดพระเนตร การพัฒนาประเทศของประเทศอิสราเอล โดยทรงรับเชิญ เป็นอาคันตุกะ ของรัฐบาลอิสราเอล และการพัฒนาประเทศของประเทศอิหร่าน โดยทรงรับเชิญ เป็นพระอาคันตุกะ ของเจ้าหญิงฟาราห์ นาซ พระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน เมื่อเดือนเมษายน ศกนี้ ประเทศทั้งสองดังกล่าว นับว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้ามาก ในด้านการพัฒนาประเทศ

ผลจากการที่ได้ไปทอดพระเนตรกิจการต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ ย่อมนำมาใช้เป็นแนวทาง ช่วยในการพัฒนาประเทศไทย ได้เป็นอย่างดี ในด้านการพระศาสนา ก็ทรงมีพระหฤทัยมั่นคงในพระรัตนตรัย ทรงศึกษา และปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา โดยสม่ำเสมอตลอดมา ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พร้อมทั้งทรงสนพระหฤทัย ศึกษาหาความรู้ ด้านพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น ตลอดจนปรัชญาอย่างแตกฉาน ในส่วนราชการในพระองค์ ก็ได้สนองพระเดชพระคุณ ในพระราชภารกิจที่ทรงมอบหมาย ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สมพระราชประสงค์ เช่น เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เสด็จแทนพระองค์ ไปทรงร่วมในงานพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้ากุสตัฟ ที่ ๖ อดอล์ฟ ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระภารกิจได้สำเร็จเรียบร้อยเป็นอย่างดี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์นี้ กอปรด้วยพระจรรยามารยาท เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ แห่งขัตติยราชกุมารีทุกประการ เป็นที่รักใคร่นับถือ ยกย่องสรรเสริญพระเกียรติคุณ กันอยู่โดยทั่วไป บัดนี้ก็ทรงพระเจริญวัย สมบูรณ์ด้วยพระเกียรติคุณดังกล่าวมา สมควรได้รับพระราชทานสถาปนาพระอิสริยยศ และพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชา และสัปตปฎลเศวตฉัตร เพื่อเป็นพระเกียรติประวัติสืบไป ตามโบราณขัตติยราชประเพณี

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพรให้ทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ พิพัฒมงคล วิบุลศุภผล สกลเกียรติยศปรากฏมโหฬารตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ เป็นปีที่ ๓๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
นายกรัฐมนตรี

พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศ ตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันมี ๗๓ พระองค์ ที่ดำรงพระยศ "กรมพระยา" นั้น มีพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระบรมมไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ส่วนที่ดำรงพระยศรองลงมา คือ "กรมพระ" นั้น ส่วนใหญ่ ได้แก่ สมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ในรัชกาลต่าง ๆ นอกจากนั้นก็เป็นสมเด็จพระบรมอัยยิกาเธอบ้าง พระวิมาดาเธอบ้าง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอบ้าง รวม ๑๓ พระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงเป็นกรมพระ หรือสมเด็จพระ พระองค์ที่ ๑๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และไม่เคยปรากฏว่า พระมหากษัตริย์พระองค์ใด เคยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า เป็นสมเด็จพระมาก่อน การสถาปนาครั้งนี้ จึงเป็นพระเกียรติยศที่สูงยิ่ง และนำความปลื้มปิติ มาสู่ประชาชนชาวไทยทั่วหน้า