Column banner

แนะนำพระราชนิพนธ์ ๔ เล่ม สำหรับฤดูกาลอันอบอุ่นนี้

 

     สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน ฉบับนี้ “แก้วใส” มาพบกับท่านเป็นครั้งแรก ขออนุญาตฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะคะ
     หลายท่านคงคิดถึงพี่ “หวานเย็น” ผู้ที่เคยเขียนคอลัมน์ "หนังสือทูลกระหม่อม" นี้ และอาจสงสัยว่าพี่ “หวานเย็น” หายไปไหน “แก้วใส” ขอเฉลยว่าพี่ “หวานเย็น” ไม่ได้หายไปไหนหรอกค่ะ เธอแค่ไปพักผ่อนรับลมหนาวเท่านั้น ไม่นานก็จะกลับมา ไม่แน่ว่าฉบับหน้าพี่ “หวานเย็น” อาจกลับมาพบผู้อ่านทุกท่านพร้อมของฝากน่ารัก ๆ ก็ได้นะคะ
     สำหรับ “แก้วใส” ไม่มีของฝากอะไรให้ท่านผู้อ่านได้มากไปกว่า “หนังสือทูลกระหม่อม” เล่มใหม่ที่อยากแนะนำให้ท่านได้ลองซื้อหามาอ่านกันค่ะ

ประพาสราชสถาน

     “ทูลกระหม่อม” ทรงพระราชนิพนธ์คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนรัฐราชสถาน และกรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ ๒–๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๔
     รัฐราชสถานเป็นรัฐทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียค่ะ ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองเป็น ๖ แคว้น ในครั้งนี้ “ทูลกระหม่อม” เสด็จฯ เยือนแคว้นชัยปูร แคว้นอุทัยปูร และแคว้นโยธปูร หรือชัยปุระ อุทัยปุระ และโยธปุระ ตามการออกเสียงแบบไทย ๆ ค่ะ
     แม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ทว่าแต่ละแคว้นก็มีมหาราณาหรือมหาราชาเป็นผู้ปกครอง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หาคำตอบได้ในหนังสือค่ะ
     การอ่านหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านจะรู้สึกราวกับได้ย้อนกลับไปสู่อดีตของรัฐราชสถาน และอินเดีย สัมผัสกลิ่นอายแห่งอารยธรรมเก่าแก่ และขนบธรรมเนียมโบราณ ได้ทราบเรื่องราวการสู้รบอันยาวนานหลายร้อยปีของมหาราณาแห่งแคว้นเมวาร์หรืออุทัยปุระ กับราชวงศ์โมกุล ได้ประจักษ์ความกล้าหาญแห่งพวกเมวาร์ที่ “จะยอมตายดีกว่าตกเป็นข้าของพวกโมกุล” 
     อ้อ! ใครที่อยากทราบว่าราชวงศ์ที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดในโลกคือราชวงศ์อะไร ต้นราชวงศ์คือใคร หาอ่านได้ในหนังสือเล่มนี้ค่ะ
     เนื่องจากรัฐราชสถานเป็นรัฐเก่าแก่จึงมีเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ตำนานวีรบุรุษและตำนานสถานที่ รวมทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุที่งดงามเป็นจำนวนมาก ท่านจะได้เห็นสถาปัตยกรรมและประติมากรรมการแกะสลักที่งดงามอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ “ทูลกระหม่อม”ทรงบรรยายและพรรณนาอย่างละเอียดจนรู้สึกว่าเหมือนได้เห็นกับตาตนเองทีเดียวค่ะ
     อ่าน “ประพาสราชสถาน” จบแล้ว “แก้วใส” เชื่อว่าคุณผู้อ่านจะได้รับรู้และมองเห็นอีกแง่มุมหนึ่งของอินเดียที่น่าประทับใจ

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย

     หนังสือเล่มนี้ “ทูลกระหม่อม” ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อคราวเสด็จ ฯ เยือนมณฑลชิงไห่ ภูมิภาคปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย และภูมิภาคปกครองตนเองซีจั้งหรือทิเบต รวมทั้งกรุงปักกิ่งและมณฑลเหอเป่ย เมื่อวันที่ ๑๓–๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ ปีเดียวกับที่เสด็จ ฯ ไปอินเดียค่ะ
     ท่านจะได้ร่วมท่องเที่ยวตามเสด็จไปยังดินแดนทะเลทราย เทือกเขาสูง และแหล่งต้นน้ำสำคัญ ๓ สาย ทั้งแม่น้ำฉังเจียง แม่น้ำหวงเหอ และแม่น้ำใกล้บ้านเมืองเราอย่างแม่น้ำโขงด้วย
     ในการเสด็จ ฯ ครั้งนี้ “ทูลกระหม่อม” เสด็จ ฯ ไปวัดและวังหลายแห่ง ทั้งในทิเบต มณฑลชิงไห่ และกรุงปักกิ่ง ท่านที่ชื่นชอบชมวัดและวัง ไม่น่าพลาด เพราะ “ทูลกระหม่อม” ทรงเล่าถึงประวัติความเป็นมา วิหารอาคารต่าง ๆ และจุดเด่นของแต่ละสถานที่อย่างละเอียด ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินจริง ๆ ค่ะ
     นอกจากนี้ ยังได้ทราบถึงความเป็นมาอันยาวนานของทิเบต และเหตุใดทิเบตจึงรวมเป็นส่วนหนึ่งของจีน มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างไร ทราบได้จากหนังสือเล่มนี้ค่ะ
     ท่านที่คิดว่าทะเลทรายจะมีแค่ความร้อนและแห้งแล้ง น่าจะได้อ่านหนังสือเล่มนี้นะคะ แล้วท่านจะได้เห็นความสวยงามของทะเลทราย ได้เห็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ทรงคุณค่าอย่างที่มิอาจจะประเมินค่าได้ ทั้งจะได้เห็นความอุตสาหะของมนุษย์ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้เพื่อหยุดยั้งการขยายเขตของทะเลทรายในปัจจุบัน
     สถานที่และเรื่องราวเกร็ดความรู้ในหนังสือเล่มนี้มากมายเกินกว่าที่จะเล่าได้หมดค่ะ เชิญท่านหาซื้ออ่านจากเล่มจริงจะได้อรรถรส จินตภาพ และความรู้มากกว่ากันเยอะ ใครที่ยังไม่มีไว้ในครอบครองคงต้องรีบกันหน่อยนะคะ ช้าหมด อดอ่าน ไม่รู้ด้วย

 

เพียงวันพบวันนี้ที่สำคัญ

    

     หนังสือเล่มนี้รวบรวมเรื่องที่ “ทูลกระหม่อม”ทรงแปลไว้ในช่วงเวลาต่าง ๆ ประกอบด้วยกัน ๓ เรื่อง คือ บทละครเรื่อง “ปลวก” ของกุนเธอร์ ไอช์ นักเขียนชาวเยอรมัน คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ความเรียงเรื่อง “แสงโคมของไอ้ร์เค่อ” ของปาจิน นักเขียนชาวจีน คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เช่นกัน และเรื่องสั้นขนาดยาว “สาวน้อยเสี่ยวหยูว” ของเหยียนเกอหลิง นักเขียนชาวจีนร่วมสมัย ใครที่ไม่ทราบว่านักเขียนทั้งสามเป็นใคร ก็จะได้ทราบประวัติโดยย่อของนักเขียนจากหนังสือเล่มนี้ค่ะ
     ทูลกระหม่อมทรงพระราชนิพนธ์ถึงจุดร่วมของสาระและแนวคิดของเรื่องทั้ง ๓ ไว้ใน “คำนำ” ว่า

     "เป็นการพินิจความเสื่อมสลายทางจิตวิญญาณของสังคมสมัยใหม่ ที่มนุษย์ใช้วัตถุเป็นเครื่องวัดความสุขในชีวิต ปล่อยตนให้จมอยู่กับความสุขจอมปลอม ไม่รับรู้ความเป็นจริง และปัญหาอื่นใด หรือไม่กล้าพอที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนและของสังคม ยึดมั่นถือมั่นผิดๆ จนถึงวาระสุดท้ายที่สายเกินแก้…
     "แม้จะแสดงถึงความเสื่อมสลาย แต่ผู้เขียนก็ยังไม่ได้สิ้นหวังสิ้นศรัทธาในความดีงามของใจมนุษย์ ยังแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความรักเมตตาอาทรระหว่างมนุษย์ที่จะยังให้สังคมสงบสุข ท่ามกลางความแปรผันภยันตรายที่มนุษย์ต้องเผชิญอยู่เสมอ”
     ในการแปลวรรณกรรมทั้งสามเรื่อง “ทูลกระหม่อม” ทรงใช้ภาษาเรียบง่าย กระชับ และเป็นไทย ๆ เนื้อเรื่องก็ชวนติดตาม สะเทือนใจ และให้ข้อคิด ที่คุณ ๆ อาจสามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตจริง
     หนังสือเล่มนี้ ขนาดเล่มกะทัดรัด สะดวกพกพา สะดุดตาตั้งแต่ภาพหน้าปกสีสันสวยงาม ฝีมือการวาดของคุณทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ท้ายเล่มยังมีภาคผนวกบทความ “สาวน้อยเสี่ยวหยูว หยกใสในทะเลเพลิง” ของรองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดพิมพ์และจำหน่าย ราคาหนังสือ เล่มละ ๗๕ บาท เท่านั้นค่ะ

ความฝัน

    

    “ทูลกระหม่อม” ทรงแปลจากบทละครวิทยุของกุนเทอร์ ไอช์ นักเขียนเรืองนามชาวเยอรมัน (ค.ศ. ๑๙๐๗–๑๙๗๒) ซึ่งเขียนเรื่องความฝันไว้ ๕ เรื่อง ฉากของแต่ละเรื่องเกิดขึ้นในหลายประเทศต่างๆ กัน ทั้งในเยอรมนี จีน ออสเตรเลีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ท้ายบทละครแต่ละเรื่อง “ทูลกระหม่อม” ทรงพระราชนิพนธ์ “อธิบายความฝัน” ไว้ด้วยค่ะ
     ในบทสนทนาสั้น ๆ ของตัวละครเพียงไม่กี่ตัว มีเนื้อหาที่กระชับ ชวนติดตาม ผู้เขียนใช้สัญลักษณ์ในการสื่อความ ชวนให้ครุ่นคิดพิจารณาหาความหมายที่ซ่อนแฝงอยู่ใน “ความฝัน” ทั้ง ๕ เรื่องนั้น
     “ทูลกระหม่อม” ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน “นำเรื่อง” ตอนหนึ่งว่า “ช่วงปีที่เขียนละครชุดนี้เกิดสงครามเกาหลี (ค.ศ. ๑๙๕๐–๑๙๕๓) นักวิเคราะห์วรรณกรรมจึงกล่าวกันว่า ความฝันที่เสนอเป็นฝันร้ายมากกว่าฝันดี…” เอ..จะเป็นฝันร้ายหรือฝันดีคงต้องตามหาอ่านกันในหนังสือเล่มจริงแล้วล่ะค่ะ
     นอกจากนี้ ลองมาดูกันสิว่าบทละครวิทยุของเยอรมันจะเหมือนกันกับบทละครวิทยุของไทยไหม ใครที่ชอบละครวิทยุ ไม่น่าพลาดนะคะ หรือใครที่เกิดไม่ทันยุคละครวิทยุกำลังเฟื่องฟูก็น่าจะลองหาซื้อมาอ่านดูกัน จะได้รู้ว่าละครวิทยุนั้นเป็นอย่างไร
     หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนคู่แฝดคนละฝาของ “เพียงวันพบวันนี้ที่สำคัญ” ค่ะ นอกจากจะเป็นพระราชนิพนธ์แปลเหมือนกันแล้ว ขนาดเล่มกว้างยาวก็เท่ากัน หนากว่าสัก ๑ มิลลิเมตรเท่านั้น หน้าปกเป็นภาพวาดทุ่งหญ้าสีเย็นตา ภาพหน้าปกและภาพประกอบในเล่ม เป็นฝีมือการวาดของคุณทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ เช่นกัน และท้ายเล่มมีภาคผนวกบทความของรองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา ด้วยค่ะ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดพิมพ์และจำหน่าย ในราคาเล่มละ ๙๙ บาทเท่านั้น หรืออาจซื้อเป็นชุดพร้อมกับ “เพียงวันพบวันนี้ที่สำคัญ” ซึ่งบรรจุรวมอยู่ในกล่องสวยงาม เหมาะที่จะเป็นของขวัญให้แก่ทุกคนค่ะ
     … หากคุณยังไม่มีไว้ในครอบครอง “แก้วใส” อยากเชิญชวนให้ลองไปซื้ออ่านกัน เผื่อบางที “ความฝัน” เหล่านั้น อาจสัมพันธ์กับ “ความจริง” ในชีวิตคุณหรือใครอย่างคาดไม่ถึงก็ได้…ใครจะรู้ ?
 
         ป.ล. อ้อ เกือบลืมแน่ะค่ะ "แก้วใส" มีข่าวดีจะแจ้งให้ทราบว่า "หนังสือทูลกระหม่อม" เล่มแรกๆ ซึ่งขาดตลาดไปตั้งนานแล้ว ตอนนี้ "มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา" ได้นำกลับมาพิมพ์ใหม่แล้วนะคะ จำนวนถึง  ๑๘ รายการ  ตัวอย่างเช่น "ย่ำแดนมังกร" "โรมันสัญจร" "ไอรักคืออะไร" "ข้าวไทยไปญี่ปุ่น" "ลัดฟ้าล่าวิชาหาอาจารย์" "แดร๊กคูล่าผู้น่ารัก" "ข้ามฝั่งแห่งฝัน"  "ลาวตอนใต้" และอีกมากมาย ใครที่เคยพลาดไปในการพิมพ์ครั้งแรกครั้งนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่ท่านจะได้สะสมแล้วนะคะ หรือใครที่ยังไม่เคยอ่านเลย "แก้วใส" ขอแนะนำให้ลองไปหาอ่านกัน ของดีมีน้อย ช้าหมดอดคราวนี้ ไม่รู้ว่าต้องรอไปอีกนานแค่ไหนแล้วนะคะ ท่านที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณอรวรรณ แย้มพลาย  กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โทรศัพท์ ๐๒ ๒๘๐๓๕๘๑-๙ ต่อ  ๖๗๑, ๖๗๗ โทรสาร ๐๒ ๒๘๐๑๖๓๙

                              สวัสดีค่ะ