พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม |
วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นวันมงคลวโรกาสราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครบ ๖๐ ปี ความข้างต้นนี้ ผู้คนทั่วไปทราบเป็นอย่างดี หากแต่อาจจะมีเพียงบางส่วนที่ทราบว่า ย้อนไปเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสได้จัดขึ้น ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม วังสระปทุมเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ ตราบจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการเปิดพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ในวันพุธที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้จัดแสดงห้องต่างๆ บนพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ห้องจัดแสดงที่มีความเกี่ยวพันกับพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ได้แก่
ห้องรับแขก ๑. ห้องรับแขก ห้องนี้อยู่ชั้นล่างทางทิศตะวันตกของพระตำหนัก ตรงอัฒจันทร์ทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระตำหนักชั้นบน สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้จัดเป็นที่รับแขกหรือผู้มารอเฝ้าฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อพระราชโอรสคือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ทรงใช้รับแขก ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไม่ค่อยได้ทรงใช้ห้องนี้ ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องนี้เป็นที่รับรองเจ้านาย นายกรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มาในมงคลวโรกาสพระราชพิธีดังกล่าว ห้องพิธี ๒. ห้องพิธี ห้องนี้อยู่ชั้นล่างส่วนกลางของพระตำหนักติดห้องรับแขก สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงใช้จัดงานพิธี เช่น การบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นห้องเสวยในโอกาสพระราชทานเลี้ยง และในวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วันที่ ๑๐ กันยายนของทุกปี โรงเรียนราชินีได้จัดการแสดงของนักเรียน มีเจ้านายและข้าราชบริพารร่วมแสดงถวายทอดพระเนตรในห้องนี้ เช่น รำถวายพระพร ละครรำ ระบำในวรรณคดีไทยชุดต่างๆ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ห้องนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ด้วยเป็นสถานที่จดทะเบียนราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน ๓. เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน ช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดที่จะประทับตรงเฉลียงชั้นบนหน้าห้องพระบรรทมซึ่งปัจจุบันจัดเป็นห้องทรงนมัสการ เมื่อทรงตื่นบรรทมแล้วจะเสด็จออกมาประทับที่เฉลียงตลอดทั้งวัน เสวยพระกระยาหาร ณ ที่นี้ด้วย พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส บริเวณนี้ มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หมายเหตุ |