“... สำหรับข้าพเจ้า โภชนาการเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าสนใจเป็นพิเศษ การตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้ข้าพเจ้าได้พบเด็กขาดอาหารอยู่บ่อยๆ และข้าพเจ้าก็เห็นด้วยกับผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการว่า การปรับปรุงภาวะโภชนาการของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องการความใส่ใจจากทุกคนอย่างเร่งด่วน ข้าพเจ้าเชื่อว่า เราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า อาหาร เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง การจะทำให้ผู้คนเข้าถึงอาหารได้มากขึ้น ให้มีความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและมีอาหารที่เหมาะสมบริโภค เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพัฒนาเป็นอันดับแรก ...”
พระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ณ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ
สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กรุงเทพมหานคร ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๕
การทรงงานในระยะแรก
ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบทและพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทรงพบเห็นราษฎรจำนวนมากมีความทุกข์ยาก จึงตั้งพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือราษฎรเหล่านั้นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในพุทธศักราช ๒๕๒๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มงานพัฒนาของพระองค์ เริ่มต้นที่เด็กและเยาวชน ด้วยทรงตระหนักว่าเด็กและเยาวชนเป็นพลังสำคัญของประเทศในอนาคต และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด หากขาดอาหาร เจ็บป่วย และขาดการศึกษาแล้ว จะทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตและพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ จึงไม่อาจเป็นที่พึ่งของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติต่อไปได้
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดอาหารในเด็กวัยเรียนและเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ อีกทั้งเพื่อหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงทดลองทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ๓ แห่งในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งปรากฎผลเป็นที่น่าพอใจ ในปีต่อมา จึงทรงขยายงานไปในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ จากการที่ทรงติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนด้วยพระองค์เองและทรงจดบันทึกความก้าวหน้า พร้อมทั้งทรงศึกษาจากเอกสารรายงาน ทรงพบปัญหาอุปสรรคต่างๆ จึงมีพระราชดำริในการดำเนินงานโครงการพัฒนาอีกมากมาย เพื่อช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และประชาชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร โดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงงานด้านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๓๐ ปี ส่งผลให้เด็กจำนวนมากมีภาวะโภชนาการและสุขภาพดีขึ้น มีความสามารถในการเรียนรู้ อีกทั้งยังเรียนต่อในระดับสูงขึ้น เมื่อเรียนจบก็มีโอกาสในการประกอบอาชีพ มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว และสามารถช่วยเหลือพัฒนาชุมชนของตนเองให้มีสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ในการทรงงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมุ่งเน้นให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันให้เหมาะสมแก่การแก้ปัญหาที่หลากหลาย ในเรื่องของการพัฒนานั้น มีพระราชดำรัสว่า
“... การพัฒนาคือกระบวนการที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น นักพัฒนาซึ่งปัจจุบันมักเรียกว่าผู้ส่งเสริมการพัฒนา ล้วนมีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวคือ มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มเป้าหมายโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และต้องพยายามอนุรักษ์สมดุลธรรมชาติด้วยการดูแลรักษามิให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดสิ้นไป
การพัฒนาขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ศาสนา เชื้อชาติ สภาพเศรษฐกิจ และสังคม การพัฒนา เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทั้งเทคโนโลยีขั้นสูง เทคโนโลยีที่เหมาะสม และเทคโนโลยีพื้นบ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ มักจะเป็นกรณีที่นักพัฒนามีความมุ่งมั่นเอาใจใส่รับผิดชอบ และเคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น กล่าวคือ การพัฒนาเกี่ยวข้องกับมนุษยธรรมและจิตใจอย่างมาก ...”
การประชุมแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ครั้งที่ ๑๒
การประชุมโต๊ะกลมระดับสูง ณ กรุงอักกรา สาธารณรัฐกานา แอฟริกา ๒๔ เมษายน ๒๕๕๑
หลักการทรงงาน
จากความเอาพระทัยใส่ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาด้านโภชนาการให้กับเด็ก อันเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงาน โดยเริ่มจากเพียง ๓ โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ขยายเป็น ๗๑๑ แห่งในปัจจุบัน (พุทธศักราช ๒๕๕๓)
หลักการสำคัญที่สะท้อนถึงแนวทางในการทรงงานตลอดเวลาอันยาวนานถึง ๓๐ ปี มีดังนี้
๑. อาหารและโภชนาการสำคัญเป็นอันดับแรก
ในการพัฒนาเด็ก ถ้าไม่สามารถพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในด้านสุขภาพและอนามัยก่อน เด็กจะไม่มีความพร้อมสำหรับการพัฒนาด้านอื่นๆ ไม่อาจนับว่าเป็นอนาคตของชาติได้
๒. เริ่มต้นทดลองทำเล็กๆ เมื่อสำเร็จจึงค่อยขยายผล
ทรงเริ่มงานจากโครงการเล็กๆ โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และคัดเลือกโรงเรียน ๓ แห่ง ในภาคกลางที่ไม่วิกฤตนักแต่ไม่ร่ำรวยเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อทรงเห็นว่ามีความเป็นไปได้ จึงพระราชทานโครงการที่ได้ผลนี้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
๓. โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา
มีพระราชดำริให้ใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง เพราะมีทั้งเด็กนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ที่ส่วนราชการสามารถมาช่วยสนับสนุนให้ความรู้ทางด้านเทคนิคทางการเกษตรแบบใหม่ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยเรียน ดังนั้น เด็กเหล่านี้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็สามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความคุ้นเคยกับการติดต่อกับส่วนราชการในเวลาที่มีอะไรติดขัดในอนาคต
๔. ยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี
จากการที่ทรงทราบว่า สมองของคนเราจะเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างเต็มที่ในเด็กช่วงก่อนวัยเรียน ดังนั้น จึงทรงเริ่มตั้งแต่หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร และติดตามไปถึงเด็กวัยก่อนเรียนและวัยเรียน
๕. กุญแจแห่งความสำเร็จ คือการพัฒนาความสามารถของคน
กุญแจการพัฒนา คือการให้การศึกษาและการฝึกอบรม ทรงเชื่อว่า การสร้างศักยภาพด้วยการลงมือทำวิจัยและพัฒนาด้วยตนเองนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากเรามีความสามารถที่เราพัฒนาขึ้นเอง การพัฒนานั้นจะยั่งยืน เพราะในระยะยาว เราไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีของผู้อื่นตลอดไป
๖. การพัฒนาแบบองค์รวม
ทรงค้นพบว่า โครงการจะประสบความสำเร็จดีถ้ามีความร่วมมือร่วมแรงจากหลายฝ่าย รวมทั้งอาสาสมัคร เพราะการพัฒนาเป็นกระบวนการที่บูรณาการ คือมีทั้งเรื่องสุขภาพ การศึกษา การฝึกอาชีพ การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นต้น
กิจกรรมที่ใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง
๑. การเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
โครงการนี้ มีพระราชดำริให้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๓ โดยใช้วิธีเกษตรผสมผสานแทนการให้อาหารสำเร็จแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นทุรกันดาร ด้วยการพระราชทานเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ อุปกรณ์การเกษตร เครื่องครัว พร้อมทั้งเทคนิคสมัยใหม่และคำแนะนำในการดำเนินงาน ทรงมุ่งเน้นกิจกรรมการเกษตรในโรงเรียน ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนร่วมกันทำ และได้เรียนรู้เทคนิคการปลูกผัก ผลไม้ โดยเน้นที่พันธุ์พื้นบ้าน การเลี้ยงสัตว์ การเก็บเกี่ยว การแปรรูปและการถนอมอาหาร เทคนิคการบริหารจัดการน้ำ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยหมัก การปลูกพืชหมุนเวียน การใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดิน และนำใบหญ้าแฝกมาประดิษฐ์งานหัตถกรรม และการใช้ชีววิธีในการควบคุมกำจัดศัตรูพืช
ในระยะเริ่มต้น ผลผลิตที่ได้ในโรงเรียนมีปริมาณพอเพียงสำหรับมื้อกลางวัน ๑ มื้อ ใน ๑ สัปดาห์เท่านั้น และค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนเพียงพอสำหรับทุกวันเรียนตลอดทั้งปี เมื่อผลผลิตมีปริมาณมากพอ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้นำหลักการสหกรณ์มาใช้ในการจัดการฟาร์ม โดยนำผลผลิตนี้มาจำหน่ายให้แก่ร้านสหกรณ์ในโรงเรียน เพื่อจำหน่ายต่อให้กับโรงครัวนำไปใช้ประกอบอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัย หากมีผลผลิตเหลือก็นำไปจำหน่ายให้แก่ชุมชน รายได้ที่เกิดขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นกองทุนหมุนเวียนเพื่อการผลิตครั้งต่อไป ในกระบวนการเหล่านี้ เด็กนักเรียนได้เรียนรู้วิธีการทำบัญชี การทำงานเป็นกลุ่ม การบริหารจัดการธุรกิจขนาดย่อม และยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ ภาษา พร้อมกับปลูกฝังในเรื่องหลักการประชาธิปไตย ความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความประหยัดด้วย
ในแต่ละปี โครงการนี้ครอบคลุมเด็กมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่อยู่ในโรงเรียน และศูนย์การเรียนรู้ที่ห่างไกลตั้งแต่ชนกลุ่มน้อยบนภูเขาในภาคเหนือ ไปจนถึงหมู่บ้านพื้นราบในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หมู่บ้านชาวไทยมุสลิมสุดเขตแดนภาคใต้ และหมู่บ้านชาวเลหรือยิบซีทะเลในหมู่เกาะต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่ ๔๔ จังหวัดของประเทศ
๒. การสร้างสุขลักษณะนิสัยที่ดีด้วยอาหารกลางวันของโรงเรียน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมุ่งเน้นที่จะลดความรุนแรงของภาวะทุพโภชนาการลง นอกจากมีการทำเกษตรผสมผสานแล้ว ยังมีการจัดบริการอาหารกลางวันควบคู่ไปด้วย
ในระยะเริ่มแรก ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้แก่โรงเรียนที่จัดอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียน ในอัตรา ๑ บาท ต่อคนต่อวัน ทั้งยังเอาพระทัยใส่ไม่เฉพาะเรื่องคุณภาพทางโภชนาการเท่านั้น ทรงให้ความสำคัญเรื่องสุขาภิบาลอาหารด้วย โปรดเกล้า ฯ ให้จัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวทางในการจัดอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียน ได้กำหนดมาตรฐานอาหารกลางวันดังนี้คือ พลังงานและสารอาหารควรเป็นปริมาณหนึ่งในสามของความต้องการในแต่ละวัน ตามข้อกำหนดปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. ๒๕๔๖ และนำสู่การปฏิบัติโดยการแปลงปริมาณสารอาหารเหล่านั้นเป็นปริมาณของอาหาร ๕ หมู่ ที่จะใช้ประกอบอาหารแต่ละรายการ ในด้านสุขาภิบาล ได้กำหนดแนวทางในการประกอบอาหารที่สะอาดและปลอดภัย ทั้งในการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ถูกหลักสุขาภิบาลอาหารและการพัฒนาในเรื่องอนามัยส่วนบุคคลด้วย
ในแต่ละวัน นักเรียนจะร่วมกับกลุ่มแม่บ้านและสมาชิกของชุมชนที่หมุนเวียนกันมาช่วยเตรียมอาหาร ภายใต้การแนะนำของครู ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง สมาชิกชุมชนและครูในโรงเรียน ฝึกฝนและพัฒนาพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมซึ่งเป็นผลระยะยาว ขณะเดียวกันเด็กนักเรียนก็ได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ทำให้อิ่มท้อง มีสมาธิในการเรียน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ระยะสั้น เมื่อรวมผลลัพธ์ทั้งสองก็จะนำไปสู่การมีภาวะโภชนาการที่ดีของเด็กนักเรียนนั่นเอง
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและความยั่งยืนของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีส่วนกระตุ้นให้รัฐบาลได้ทบทวนการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันซึ่งเคยดำเนินการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ และ ๒๕๓๐ แต่หยุดชะงักไปเนื่องจากขาดงบประมาณ ใน พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อเร่งแก้ปัญหาทุพโภชนาการและการขาดแคลนอาหารกลางวันของเด็ก โดยกำหนดวงเงินกองทุนไว้ ๖,๐๐๐ ล้านบาท นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้นำแนวคิดโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันนี้ไปขยายผลต่อในโรงเรียนในสังกัด โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมภาวะโภชนาการและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี
๓. อาหารว่างเพื่อส่งเสริมโภชนาการของเด็กในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล
ด้วยทรงห่วงใยว่าเด็กจะบริโภคอาหารไม่เพียงพอในแต่ละวัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงริเริ่มโครงการอาหารว่างในโรงเรียน ด้วยการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและชุมชน ทำให้มีการปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว และไม้ผลที่โตเร็ว ได้แก่ มะละกอ และกล้วย ในพื้นที่ของโรงเรียนและชุมชน จึงมีอาหารว่างให้แก่เด็กนักเรียนอย่างน้อยวันละ ๑ มื้อ ในตอนบ่าย เช่น นมถั่วเหลือง (๒๐๐ มล.) ถั่วเขียวต้มน้ำตาล กล้วย (๑ ผล) มะละกอ (๗ ชิ้นพอคำ) กล้วยฉาบ กล้วยเชื่อม และข้าวต้มมัด เป็นต้น อาหารว่างดังกล่าวนี้ ช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่เด็กอีกอย่างน้อยวันละ ๑๐๐ กิโลแคลอรี่
โดยเฉพาะถั่วเหลือง ทรงส่งเสริมการปลูกและการบริโภคทั้งในรูปนมถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองอื่นๆ เพราะทรงเห็นว่าเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก แต่ผลผลิตถั่วเหลืองในโรงเรียนมีไม่เพียงพอแก่ความต้องการ จึงได้พระราชทานนมถั่วเหลืองผงให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เด็กนักเรียนดื่มนมถั่วเหลืองวันละแก้ว จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐบาลได้จัดตั้งโครงการนมโรงเรียนขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และมีนโยบายที่จะขยายจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ นอกจากนี้ ทรงมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีทางอาหารในการเสริมแคลเซียมลงในนมถั่วเหลือง และขยายการผลิตไปสู่ระดับอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา ปัจจุบันการดื่มนมถั่วเหลืองที่มีแคลเซียมสูงเป็นที่นิยมกันแพร่หลายในหมู่คนไทย
การควบคุมการขาดสารไอโอดีน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้มีการควบคุมและป้องกันการขาดสารไอโอดีนในโรงเรียน เป็นการเสริมการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยทรงส่งเสริมให้โรงเรียนใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการประกอบอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนเป็นประจำทุกวัน พร้อมกับรณรงค์ส่งเสริมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนเป็นประจำ เนื่องจากภาวะแร้นแค้นและยากลำบากในพื้นที่ห่างไกล ทำให้การส่งเสริมเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพไปไม่ทั่วถึง จึงต้องส่งเสริมการใช้น้ำเสริมไอโอดีนควบคู่ไปด้วย โดยให้นักเรียนเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมคุณภาพ โดยใช้ชุดทดสอบในการเตรียมน้ำเสริมไอโอดีนทุกวัน ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของครูที่ได้รับการอบรมแล้ว ในพื้นที่ที่มีการขาดไอโอดีนเกินร้อยละ ๒๐ และไม่สามารถจัดหาเกลือเสริมไอโอดีนได้ ในบางฤดู กระทรวงสาธารณสุขได้จัดยาแคปซูลเสริมไอโอดีนในน้ำมัน (ขนาด ๒๐๐ ไมโครกรัมทุก ๖ เดือน) ให้แก่เด็กและหญิงวัยเจริญพันธุ์
ในการเฝ้าระวังการขาดสารไอโอดีน ใช้อัตราคอพอกในเด็กเป็นดัชนี โดยการฝึกอบรมครูและให้ครูตรวจคอพอกในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาทุกคนปีละ ๒ ครั้ง ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะไม่ดีเท่าการตรวจวัดสารไอโอดีนในปัสสาวะ ซึ่งต้องใช้เครื่องมือราคาแพงและผู้ที่มีความชำนาญ แต่วิธีการนี้จะช่วยให้ครูและชุมชนสามารถประเมินสถานการณ์ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในพื้นที่ของตนได้
ปัจจุบัน ภาวะการขาดสารไอโอดีนในพื้นที่ห่างไกลอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยมีอัตราคอพอกในเด็กนักเรียนต่ำกว่าร้อยละ ๕ มาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๓ แต่การใช้เกลือเสริมไอโอดีนและน้ำดื่มเสริมไอโอดีนยังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่ห่างไกล
การดำเนินกิจกรรมควบคุมภาวะขาดสารไอโอดีนดังกล่าว ส่งผลให้เด็กนักเรียน ครู และสมาชิกในชุมชนมีความรู้และทักษะในการป้องกันการขาดสารไอโอดีนด้วยตนเอง
กิจกรรมการควบคุมการขาดสารอาหารอื่นๆ
นอกจากสารไอโอดีนแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยในเรื่องของการขาดวิตามินเอและธาตุเหล็กด้วย
ปัญหาการขาดวิตามินเอในประเทศไทย ได้มีการแก้ไขจนระดับความรุนแรงเปลี่ยนจากระดับที่เห็นอาการทางคลินิกชัดเจนมาเป็นระดับเซลล์ซึ่งซ่อนเร้น เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงทราบ จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินกิจกรรมผลิตอาหารขึ้นเพื่อสนับสนุนและรองรับมาตรการการให้วิตามินเอของกระทรวงสาธารณสุข ทรงเน้นการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ที่มีวิตามินเอสูง นอกจากนี้ยังได้พระราชทานนมวัวและนมถั่วเหลืองเป็นอาหารให้แก่เด็ก
โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กยังพบอยู่มากในประเทศไทย เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก จึงทรงสนับสนุนให้สถานศึกษาดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น
- ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ตับ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง ในอาหารกลางวันของโรงเรียน
- ให้โภชนศึกษาแก่เด็ก โดยการสอดแทรกในวิชาสุขศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของธาตุเหล็กในร่างกาย ผลจากการขาดธาตุเหล็ก และแหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
การส่งเสริมโภชนาการที่ดีในโรงเรียนพระปริยัติธรรม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานความร่วมมือกับพระสงฆ์ในการจัดการศึกษาให้แก่สามเณรที่ขาดโอกาสมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๕ เช่นเดียวกับเด็กอื่นๆ ในท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงทราบว่าสามเณรหลายรูปยังมีภาวะทุพโภชนาการทำให้ไม่สามารถศึกษาได้อย่างเต็มศักยภาพเพราะที่ตั้งของวัดอยู่ในชุมชนเล็กๆ ซึ่งชุมชนไม่สามารถให้การสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ จึงมีพระราชดำริที่จะส่งเสริมโภชนาการของสามเณร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินสนับสนุนโครงการจัดภัตตาหารเพลถวายสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในภาคเหนือและภาคกลางจำนวน ๑๐ บาทต่อสามเณร ๑ รูปต่อวัน ขณะนี้มีทั้งสิ้น ๓๔ โรงเรียน ในการดำเนินงาน ทรงเน้นในเรื่องคุณภาพของภัตตาหารทั้งคุณค่าของสารอาหารตามหลักโภชนาการ และความสะอาดปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาลอาหาร มีการจัดฝึกอบรมและศึกษาดูงานให้แก่ผู้ประกอบอาหารให้กับสามเณร นอกจากนี้ ยังพระราชทานเครื่องชั่งน้ำหนักและที่วัดส่วนสูง พร้อมทั้งจัดการฝึกอบรมเพื่อให้ครูสามารถประเมินภาวะโภชนาการของสามเณรได้ ปัจจุบันมีสามเณรได้รับการถวายภัตตาหารเพลและส่งเสริมโภชนาการทั้งหมด ๖,๙๙๖ รูป
จากพระราชดำริในโรงเรียนพระปริยัติธรรม นอกจากจะช่วยให้เด็กด้อยโอกาสได้รับบริการด้านการศึกษาแล้ว ยังได้รับการส่งเสริมโภชนาการอันจะช่วยให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นคนมีคุณภาพของสังคมและประเทศชาติต่อไป
การส่งเสริมโภชนาการที่ดีสำหรับเยาวชนมุสลิม
ในเดือนที่ ๙ ของปฏิทินอิสลาม ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ เป็นประเพณีปฏิบัติของชาวมุสลิมทั่วโลกที่ชาวมุสลิมจะใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน เรียกกันว่า เดือนรอมฏอน หรือการถือศีลอด งดเว้นการรับประทานอาหารตั้งแต่ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งถึงช่วงดวงอาทิตย์ตกดิน เฉลี่ยเป็นเวลาประมาณ ๑๒-๑๔ ชั่วโมงต่อวัน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริที่จะส่งเสริมโภชนาการที่ดีสำหรับเยาวชนมุสลิมในเดือนรอมฎอน ทรงคิดหาวิธีที่จะช่วยให้เยาวชนเหล่านั้นได้รับสิทธิทดแทนอาหารกลางวันของโรงเรียนในระหว่างการถือศีลอด จึงทรงทดลองจัดรูปแบบการจัด “อาหารกลางคืนระหว่างการถือศีลอด” ขึ้น โดยความร่วมมือของสถานศึกษาในการศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อให้เยาวชนได้รับอาหารเพียงพอ
รูปแบบที่ทดลอง เป็นต้นว่า ให้แม่บ้านของโรงเรียนเตรียมอาหารตอนเย็นอีก ๑ ครั้งในแต่ละวัน เพื่อให้เยาวชนที่ถือศีลอดนำกลับบ้าน อีกทางหนึ่ง คือ การให้เด็กนำนมและไข่กลับไปที่บ้าน จากการทดลองหลายๆ รูปแบบ พบว่า การให้นมผงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นการให้สารอาหารที่สำคัญ คือ แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี ๒ และธาตุเหล็ก ทำให้ได้คุณค่าทางโภชนาการสูงกว่ารูปแบบอื่น
การติดตามและประเมินผลด้วยตนเอง
ในการทรงงานการพัฒนาโภชนาการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญต่อการติดตามและประเมินผล ทรงถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะบอกให้ทราบถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จของการดำเนินงาน มีพระราชดำริให้โรงเรียนในโครงการฯ จัดทำระบบเก็บข้อมูล ติดตามและประเมินผล เพื่อสามารถประมวลผลเป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินงานได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอนักวิชาการจากภายนอก ครูสามารถติดตามการเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการของเด็กเป็นรายบุคคลได้ และสามารถให้การดูแลได้อย่างเหมาะสม ทรงเลือกวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด นั่นคือ การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ภาวะโภชนาการของเด็กได้ดีที่สุด
ในตอนเริ่มต้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องชั่งน้ำหนักและที่วัดส่วนสูงให้แก่โรงเรียน และจัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้แก่ครู ทั้งในด้านเทคนิคของการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง การแปลผลและการนำข้อมูลไปใช้ในการแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการของเด็กเป็นรายบุคคล และเพื่อการพัฒนากิจกรรมของโรงเรียนด้วย พร้อมทั้งจัดทำคู่มือที่จำเป็นเพื่อให้ครูสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง และเป็นการควบคุมคุณภาพในการชั่งและวัดไปด้วยในตัว จากการที่ทรงสนับสนุนโรงเรียนและทรงติดตาม พร้อมทั้งพระราชทานคำแนะนำให้แก่ครูอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทำให้ระบบติดตามและประเมินผลของโรงเรียนเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินการเป็นกิจวัตรประจำมาจนถึงปัจจุบัน
--------------------- จบตอนที่ ๑ ----------------------
บรรณานุกรม :
- เจ้าฟ้านักพัฒนาโภชนาการ ๓๐ ปี ในโครงการตามพระราชดำริ โครงการพัฒนาเด็กและเยาชนในถิ่นทุรกันดาร จัดทำโดย สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (กันยายน ๒๕๕๓)
|