พระราชกรณียกิจการทรงรับราชการ
เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเจริญพระชันษาเข้าสู่ "วัยทำงาน" "ประวัติศาสตร์" คือวิชาการที่ทรงใช้ประกอบอาชีพ
โดยทรงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในพุทธศักราช ๒๕๒๓
ที่มาของความสนพระทัยที่จะเลือกอาชีพเป็น "ครู" สอนวิชาประวัติศาสตร์
ได้ทรงพระราชนิพนธ์เกร็ดประสบการณ์ในการทรงรำลึกอดีตในส่วนนี้ไว้ในพระราชนิพนธ์
"๑๐ ปีในรั้วแดงกำแพงเหลือง" พิมพ์ครั้งแรกใน "เสนาศึกษา" เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๓๓ ความบางตอน ดังนี้
"ข้าพเจ้าได้อาศัยรั้วแดงกำแพงเหลืองมาได้ถึง ๑๐ ปีแล้ว เริ่มต้นข้าพเจ้าได้รับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และกำลังเขียนวิทยานิพนธ์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ก็ได้บรรยายวิชาอารยธรรมในโครงการการศึกษาทั่วไปของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ชั่วระยะหนึ่ง
แต่หยุดไปเพราะจะต้องพยายามเร่งทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ เกรงว่าจะไม่ทันเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้
ต่อมา พลตรียุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค ซึ่งเป็นราชองครักษ์ และเป็นคนที่คุ้นเคยกับข้าพเจ้า เข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ก็มาชวนให้ข้าพเจ้าเข้าทำงานที่โรงเรียนจปร. เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นงานที่ข้าพเจ้าคงพอจะทำได้ ในขณะนั้น ข้าพเจ้าเพิ่งจะสำเร็จการศึกษา มีความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรที่สร้างสรรค์ ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งไปกว่านั้น ข้าพเจ้ามีใจรักที่จะเป็นครู จึงตกลงใจรับราชการที่นี่..."
"...ในส่วนตัวของข้าพเจ้านั้น เป็นความภาคภูมิใจที่ได้เริ่มทำงานนี้ นอกจากข้าพเจ้าจะเรียนวิชาประวัติศาสตร์ อันเป็นวิชาการที่ข้าพเจ้าได้อาศัยเป็น "วิชาชีพ" อยู่ในปัจจุบันนี้ (คือได้เอาความรู้มาทำงานสอน) ยังได้เรียนวิชาการศึกษามาด้วย (นี่ก็เป็นวิชาชีพเหมือนกัน) การมองบทบาทของตนเองในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จึงเป็นไปในรูปของกระบวนการทางการศึกษา..."
พระราชกรณียกิจการเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ ได้เริ่มขึ้นเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำกองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ในช่วงแรก ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย สังคมวิทยา จนกระทั่งเมื่อมีการตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ในพ.ศ. ๒๕๓๐ จึงมีพระราชภารกิจเพิ่มขึ้น ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากอง (ซึ่งต่อมามีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกอง เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๒ พร้อมกับกองอื่น ๆ) ดังนั้น พระราชภารกิจของพลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นับแต่การตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน จึงมีทั้งงานบริหาร งานการสอน และงานวิชาการอื่น ๆ ดังนี้
- งานบริหาร ในฐานะผู้อำนวยการกอง ฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงบริหารงานภายในกองวิชาประวัติศาสตร์ให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุภารกิจในการให้การศึกษาวิชาการสาขาประวัติศาสตร์แก่นักเรียนนายร้อย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการในอนาคต อีกทั้งเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาในระดับสูงต่อไป ในแต่ละภาคการศึกษาทรงจัดการประชุมนายทหารประจำกอง (อาจารย์และเจ้าหน้าที่) อยู่เสมอ เพื่อให้มีการชี้แจงความก้าวหน้าในการทำงาน ร่วมกันพิจารณาเรื่องการเรียนการสอน เช่น กำหนดหัวข้อที่จะสอนในวิชาบังคับ พิจารณาปรับปรุงเนื้อหาวิชาและวิธีการสอน พิจารณาผลการเรียนของนักเรียนนายร้อย การกำหนดแผนงานต่าง ๆ เช่น การทัศนศึกษา การวิจัย การสัมมนา เป็นต้น
การพัฒนาบุคลากร พระองค์ใส่พระทัยให้อาจารย์ในกองวิชาประวัติศาสตร์ได้เข้าร่วมสัมมนาวิชาการเพื่อติดตามความก้าวหน้า การค้นคว้าใหม่ ๆ ในวงการวิชาการประวัติศาสตร์ และเมื่อกลับมาแล้วก็ทรงกำหนดให้อาจารย์ผู้ไปเข้าร่วมประชุมสัมมนาทำรายงานสรุปผลเก็บไว้ที่ห้องสมุดของกองวิชาประวัติศาสตร์เพื่อให้อาจารย์อื่น ๆ ได้ศึกษาติดตามความรู้ใหม่ ๆ นั้นด้วย และทรงสนับสนุนให้อาจารย์มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานหรือเข้าฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้อาจารย์ได้มีประสบการณ์ ได้เห็นและเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ สังคมและวัฒนธรรมของประชาชนในที่ต่าง ๆ อันจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อการเรียนการสอนนักเรียนนายร้อย
การพัฒนาองค์กร ทรงพัฒนาและสนับสนุนให้กองวิชาประวัติศาสตร์ให้บริการและทำประโยชน์แก่สังคม อาทิ การเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ มีการจัดกิจกรรมเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ หรือร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ จัดการสัมมนาทางวิชาการ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ เพื่อรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศไทยจากต่างประเทศ และให้บริการข้อมูลแก่อาจารย์ นักวิชาการ และผู้สนใจจากภายนอกเข้ามาศึกษาค้นคว้า
- งานการสอน ในฐานะ "ครูประวัติศาสตร์" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงให้ความสำคัญต่อการเป็นครูและการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อถ่ายทอดให้นักเรียนนายร้อยทั้งในด้านวิชาการและประสบการณ์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นจุดประสงค์ในการสอนวิชาประวัติศาสตร์ สรุปได้ว่า ให้รู้ความเป็นไปในสังคมของประเทศ และของโลก ความรู้ในเรื่องเหตุการณ์ที่ผ่านมา และการวิเคราะห์วิจารณ์ความรู้เหล่านั้นเป็นประสบการณ์ชีวิตอย่างหนึ่ง ทำให้ทราบว่าเมื่อเกิดสถานการณ์อย่างหนึ่งขึ้นมาแล้ว จะทำให้เกิดผลอย่างไร ความรู้ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต ทรงอธิบายว่าประวัติศาสตร์ หรือส่วนที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม หรืออารยธรรมไทยที่ให้เรียนนั้นเพื่อให้รู้ว่าบ้านเมืองของเรามีอะไรบ้าง ได้รู้ว่าบรรพบุรุษของเราประสบความยากลำบากอย่างไร ดำเนินชีวิตมาอย่างไร หรือว่าต่อสู้อย่างไรในการปกป้องบ้านเมืองให้เรามีที่อยู่ที่อาศัยจนทุกวันนี้ เมื่อรู้ความเป็นมาของชาติ ก็จะมีความมั่นใจในการที่จะรักษาชาติบ้านเมือง รักษาอาณาประชาชนสืบต่อไป มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองและสังคม
"... ด้านวิธีการสอน พยายามใช้ทุกวิธีการเท่าที่จะทำได้ ได้แก่ การบรรยายถ่ายทอดความรู้ของอาจารย์ให้นักเรียน การเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมออกความคิดเห็น การให้นักเรียนอ่านหนังสือ การค้นคว้าในห้องสมุด การไปศึกษาค้นคว้าต่อในสถาบันที่มีข้อมูล เช่น หอจดหมายเหตุ หรือการออกไปสัมภาษณ์ การออกไปสังเกตการณ์ ออกไปเห็นอะไร ๆ ให้กว้างขวาง และรู้จักโยงวิชาการต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้มาเข้าด้วยกัน ประวัติศาสตร์ คือศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นมา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องอดีตที่ห่างไกลอย่างเดียว ความเป็นมาทุก ๆ นาทีที่เปลี่ยนไปก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ โดยคิดอย่างกว้างที่สุด การสอนแต่เรื่องโบราณอาจเป็นประโยชน์แก่นักเรียนน้อยเกินไป ประวัติศาสตร์แบ่งได้เป็นหลายสาขา แต่ต้องโยงเข้าหากันให้ได้ เพราะว่าเป็นปัจจัยของชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ประเพณี หรือว่าเทคโนโลยี การใช้วิธีสอนที่ให้ออกไปศึกษานอกห้องเรียน หรือทัศนศึกษาเป็นครั้งคราว เพื่อให้ดูทุกอย่าง และฝึกตัดสินว่าตนเองเห็นว่าสิ่งนั้น สิ่งนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร การดูงาน หรือทัศนศึกษาช่วยให้เห็นหลายสิ่งหลายอย่าง ได้พบปะผู้คนที่แปลกออกไปกว่าคนที่เคยพบอยู่เป็นประจำ ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนฐานะต่าง ๆ มีลักษณะนิสัยต่างกัน มาจากสิ่งแวดล้อมต่างกัน แล้วฝึกการวิจัย การเรียนรู้นอกห้องอาจทำได้ในเวลาจำกัด เสียเวลาและสิ้นเปลืองมาก จึงต้องใช้การสอนในห้องเรียนเป็นหลัก ..."
"... การจัดแต่ละครั้งต้องการให้นักเรียนได้รับความรู้ทั่วไปทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ความมั่นคงและการทหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เรื่องอาชีพราษฎรเป็นเรื่องที่เน้นมากตลอดเวลา นักเรียนส่วนมากเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ต้องออกไปปฏิบัติภารกิจในท้องถิ่นต่าง ๆ การเข้าถึงชีวิตราษฎรเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทหารจะต้องเป็นที่พึ่งของราษฎรให้ได้ ต้องเข้าถึงสังคมทุกแบบทุกระดับ ..."
- งานวิชาการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาวิธีการศึกษา หลักสูตร การเรียนการสอน ซึ่งไม่ควรอาศัยแต่การท่องจำตามที่เล่ากันต่อ ๆ มา แต่ควรเน้นให้รู้จักคิด ศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ถึงแหล่งที่มาของข้อมูล และนำมาเรียบเรียงถ่ายทอดให้ผู้อื่นทราบได้โดยมีระบบ ซึ่งวิธีการเรียนการสอนนี้ เป็นประโยชน์ทั้งในการศึกษาประวัติศาสตร์ และการเรียนวิชาอื่น รวมทั้งการปฏิบัติงานต่อไปด้วย
การพัฒนาหลักสูตร มีพระราชดำริว่า การศึกษาและวิชาชีพของนักเรียนนายร้อยมีลักษณะพิเศษบางประการที่ต่างจากนักศึกษาทั่วไป
คือต้องศึกษาวิชาการและวิชาทหารประกอบกัน ดังนั้นการจัดหลักสูตรการสอนวิชาประวัติศาสตร์ควรจะคำนึงถึงประโยชน์ที่นักเรียนนายร้อยจะได้รับ
รวมทั้งความสอดคล้องกับลักษณะวิชาชีพเมื่อจบการศึกษาไป จึงพระราชทานเป้าหมายการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์สำหรับนักเรียนนายร้อยไว้ว่า
"รู้จักอดีต เข้าใจปัจจุบัน และก้าวทันอนาคต" ได้ทรงเล่าพระราชทานในบทพระราชทานสัมภาษณ์ดังกล่าว ความตอนหนึ่งว่า
"... การสอนนักเรียน ถือหลักอยู่ว่า จะต้องคิดถึงผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นเรื่องใหญ่ ต้องคิดว่าเขาจะต้องออกไปเป็นนายทหาร
จะต้องเจริญก้าวหน้าต่อไป ควรจะมีความรู้เรื่องอะไรมากที่สุด ไม่ใช่ว่าเราเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ ก็ต้องยัดเยียดให้ได้สอนประวัติศาสตร์มากที่สุด
ได้เวลามากที่สุด เพื่อได้มีผลงานมีความดีความชอบมากที่สุด เราต้องคำนึงว่าชีวิตของนักเรียนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ควรจะมีอนาคตอย่างไร
ควรได้ความรู้ ประสบการณ์ ที่จะมีประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต มีความรู้กว้างเพื่อให้พร้อมเสมอที่จะปรับตัวได้เร็วในกระแสของความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ..."
การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หลังจากที่โรงเรียนย้ายไปอยู่ ณ บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ในพุทธศักราช ๒๕๒๙ ทรงห่วงใยว่าข้าราชการและนักเรียนนายร้อยต้องอยู่ห่างไกลจากแหล่งข้อมูลที่จะใช้ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม จึงมีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพและขยายโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนนายร้อยโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทรงส่งเสริมให้นักเรียนนายร้อยรู้จักค้นหาข้อมูลใหม่ ๆ จากอินเตอร์เน็ต (Internet) เป็นการพัฒนาตนเองให้ทันกระแสโลก จึงได้พระราชทานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครือข่าย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ ต่อมาได้พระราชทานเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมอีกในพุทธศักราช ๒๕๓๘ และ ๒๕๔๑ จากนั้น ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดทำโครงการระบบเครือข่ายอินทราเน็ตความเร็วสูง เชื่อมโยงข้อมูลจากอาคารต่าง ๆ ภายในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ระบบใหม่นี้สามารถเปิดใช้บริการในพุทธศักราช ๒๕๔๕
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะ "ทูลกระหม่อมอาจารย์" ของนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า ๒๕ ปี ทรงทุ่มเทเวลาให้กับการทรงงานอย่างจริงจัง ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะฝึกให้นักเรียนนายร้อยรู้จักคิด รู้จักตัวเอง
คือให้รู้ว่าเราเป็นใคร มาจากที่ใด และกำลังจะไปทางไหน ดังพระราชดำรัสที่ว่า
"... การเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนนายร้อยมีจุดประสงค์หลักในการให้นักเรียนฝึกหัดวิธีการทรงประวัติศาสตร์ในการคิดหาเหตุผล มีสำนึกทางประวัติศาสตร์
ให้มีความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบ้านเมือง ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย ควรรู้รากเหง้าเรื่องราวของตนเอง ความรู้นี้จะเป็นพื้นฐานช่วยเชื่อมโยงให้เข้าใจสังคมไทยปัจจุบันดีขึ้น
ให้รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลกในฐานะที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ทั้งหมดนี้มีส่วนเอื้อให้การทำงานดีขึ้น ..."