หนังสือพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี



พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2544
ประเทศ จีน
กลับไปหน้าที่แล้ว

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก


พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๔ ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาภาษาจีน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ – ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๔ ในพระราชนิพนธ์คำนำทรงเล่าถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาในครั้งนี้ว่า

   “ข้าพเจ้าเรียนภาษาจีนมา ๒๐ ปีแล้ว แต่ความรู้ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่สถานทูตจีนจัดครูมาสอนเป็นประจำ จึงเกิดความคิดว่า ถ้าข้าพเจ้าได้มาอยู่ในแวดวงคนจีน เรียนภาษาจีนอย่างเดียวไม่ต้องทำงานอื่นสักพักหนึ่งน่าจะดีขึ้น ปัญหาอยู่ที่ว่าระยะหลังๆ นี้การงานที่เมืองไทยค่อนข้างมาก จะปลีกตัวมาได้นานสักเท่าไร เมื่อ ๓ ปีก่อนเคยไปสหรัฐอเมริกาเดือนหนึ่ง จึงคิดว่าน่าจะอยู่จีนได้เหมือนกัน ได้ไปลองปรึกษากับใครๆ ที่เมืองจีน ทั้งทางมหาวิทยาลัยและคนอื่น ทุกคนต่างเห็นดีด้วย ลองไปสืบราคาที่อยู่และค่าเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง รู้สึกว่าค่อนข้างแพง แต่ก็น่าจะสู้ราคาได้ ภายหลังท่านทูตฟู่เสวียจัง ทูตจีนประจำประเทศไทยในขณะนั้นบอกว่ากระทรวงศึกษาธิการจีนจะรับภาระค่าใช้จ่ายทุกๆ ด้าน ทั้งด้านที่พักในมหาวิทยาลัย การเล่าเรียน และอาหารการกิน
   “มหาวิทยาลัยปักกิ่งจัดตารางสอนมาให้ ครั้งแรกหนักด้านเนื้อหามากเกินไป ข้าพเจ้าจึงแจ้งเขาว่าด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีนนั้น ข้าพเจ้าเรียนไปมากแล้วจากหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ข้าพเจ้ายังอ่อนในด้านภาษาจีน ทั้งการพูด การฟัง และการเขียน เขาจึงจัดตารางเรียนให้ใหม่ มีครู ๒ คน ครูจังอิง สอนภาษาจีน-ไวยากรณ์การอ่าน ส่วนครูหวังรั่วเจียง สอนภาษาพูด นอกจากนั้นยังให้เรียนการรำมวยจีนไทเก๊ก เขียนภาพจีน เขียนตัวหนังสือ และสีซอเอ้อร์หูด้วย เขาจัดที่พักที่สบายให้ในมหาวิทยาลัย มีพร้อมทุกอย่าง (เป็นหอพักที่จัดสำหรับศาสตราจารย์ทรงคุณวุฒิ ชาวต่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเชิญมาสอนหรือมาร่วมค้นคว้าวิจัย)”

วันที่ ๑ (วันพุธที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
เสด็จฯ ถึงกรุงปักกิ่ง เสด็จฯ ไปที่ประทับในบริเวณมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในตอนค่ำ ศาสตราจารย์สูจื่อหง อธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่งและรองประธานสภาวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ ห้องอาหารของมหาวิทยาลัย
วันที่ ๒ (วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
ทรงพระอักษรภาษาจีน เสวยพระกระยาหารค่ำ นางเฉินจิ้อลี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจัดถวาย ณ โรงแรมปักกิ่งแกรนด์โฮเต็ล
วันที่ ๓ (วันศุกร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
ทรงฝึกมวยไทเก๊ก (Taijiquan) ริมทะเลสาบเว่ยหมิงหู (แปลว่า ทะเลสาบยังมิมีนาม) ซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ทรงพระอักษรภาษาจีน และทรงฝึกวาดภาพแบบจีน
วันที่ ๔ (วันเสาร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
เสด็จฯ ไปถนนหลิวหลีฉั่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทอดพระเนตรร้านขายเครื่องเขียนจีน หรงเป่าไจ ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ ร้านขายพู่กัน ไต้เยว่ซวน ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่เช่นกัน นายไต้เจ้าของร้านคนแรกเป็นผู้ประดิษฐ์พู่กัน ผู้นำของประเทศนิยมใช้พู่กันของร้านนี้ และทอดพระเนตรร้านขายหนังสือ ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรอนุสรณ์สถาน ๒,๐๐๐ ปีของจีน ซึ่งแสดงถึงความก้าวหน้าของชนชาติจีนตั้งแต่สมัยบรรพกาลจนถึงปี ค.ศ.๒๐๐๐
วันที่ ๕ (วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
เสด็จฯ ไปซีซาน ทอดพระเนตร “สวนสาธารณะ” และสถานที่สำคัญหรือวัด ๘ แห่ง (ปาต้าชู่) ซึ่งติดกับเซียงซาน ได้แก่ วัดหลิงกวง เจดีย์แปดเหลี่ยม สำนักชีซันซานอาน (สำนักชีภูเขาสามลูก) วัดต้าเป่ยซื่อ (วัดมหาเมตตา) และวัดหลงเฉวียน (วัดน้ำพุมังกร)
วันที่ ๖ (วันจันทร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน เสด็จฯ ไปทรงพบนายหลี่หลานชิง รองนายกรัฐมนตรี ณ จงหนานไห่
วันที่ ๗ (วันอังคารที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน เรื่องการศึกษา และทรงฝึกซอเอ้อร์หู ซึ่งต้องทรงเรียนตั้งแต่การนั่ง การวางซอบนตัก การตั้งมือซ้ายขวา การวางนิ้วให้ถูกต้อง การสีโดยใช้นิ้วต่างๆ การลากคันชัก การดูโน้ต และการร้องตามเสียง
วันที่ ๘ (วันพุธที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน ทรงฝึกซอเอ้อร์หู และทรงฝึกวาดภาพแบบจีน
วันที่ ๙ (วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน และทรงฝึกเขียนพู่กันจีน
วันที่ ๑๐ (วันศุกร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโรงเรียนมัธยมหมายเลข ๔ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมปลายที่ถือว่าดีที่สุดในประเทศจีน มีประวัติยาวนานถึง ๙๗ ปี ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโรงเรียนมัธยมหงจื้อ
วันที่ ๑๑ (วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
เสด็จฯ ไปบ้านนายหวังเหมิง ผู้ประพันธ์เรื่อง “ผีเสื้อ” ซึ่งได้ทรงแปลเป็นภาษาไทย ผลงานของหวังเหมิงมีจำนวนมาก และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ฮังกาเรียน อุยกูร์ คาซัก โรมาเนียน และยูโกสลาเวียน เป็นต้น ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรวัดต้าเจวี๋ย .ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือหันหน้าไปทางทิศตะวันออก วัดอื่นๆ หันไปทางทิศใต้ นอกจากนี้ยัง
วันที่ ๑๒ (วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรบ้านของเหล่าเซ่อ และบ้านกัวมั่วรั่ว เสวยพระกระยาหารค่ำ นางเฉียนเจิ้งอิงจัดถวาย ณ สภาที่ปรึกษาการเมืองของจีน
วันที่ ๑๓ (วันจันทร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน และทรงฝึกซอเอ้อร์หู พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายฉือเสียง จิตรกร เฝ้าฯ
วันที่ ๑๔ (วันอังคารที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน และทรงฝึกวาดภาพแบบจีน พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายเตาซู่เหริน เลขาธิการพุทธสมาคม เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือพระไตรปิฎกซึ่งเพิ่งพิมพ์เสร็จ จำนวน ๑ ชุด พร้อมตู้ไม้การบูรสำหรับเก็บหนังสือดังกล่าว พระไตรปิฎกชุดนี้ถ่ายภาพจากสำเนาศิลาจารึกที่วัดฝังซาน พระสงฆ์จิงหวั่นเป็นผู้เริ่มสลักพระไตรปิฎกโบราณนี้ในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ.๕๘๑–๖๑๘) และสลักต่อๆ กันมาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง เป็นเวลาพันปีเศษจึงแล้วเสร็จใน ค.ศ.๑๖๙๑ มีจำนวนแผ่นหิน ๑๕,๐๖๑ แผ่น รวม ๙๐๐ กว่าพระสูตร ตอนค่ำ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรงิ้ว เรื่อง ปลาหลีฮื้อเทวดาในอ่างหยก ณ Chang-an Grand Theatre
วันที่ ๑๕ (วันพุธที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน และทรงฟังการบรรยาย ณ ตึกเฉาหยวน หมายเลข ๙ ซึ่งเป็นที่พักนักเรียนต่างประเทศ ศาสตราจารย์หวังเจี๋ย จากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นผู้บรรยาย เรื่อง นโยบายการต่างประเทศที่สำคัญของจีน ตอนบ่าย เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรศูนย์กิจกรรมพนักงานระดับสูงที่เกษียณอายุ ซึ่งเป็นหน่วยงานของนครปักกิ่ง และโรงเรียนประถมศึกษาของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนประถมศึกษาหลัก เพราะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ คุณภาพการศึกษาดี และสิ่งแวดล้อมดี  ได้รับรางวัลเป็นโรงเรียนตัวอย่างและโรงเรียนประถมก้าวหน้า คติพจน์ของโรงเรียนคือ “เรียนจริง เล่นสนุก” ซึ่งปิงซิน นักเขียนหนังสือเด็กที่มีชื่อเสียงของจีนมาเขียนให้ใน ค.ศ.๑๙๙๑ หลังจากนั้น เสด็จฯ ไปโรงเรียนอนุบาลของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เน้นการสอนแบบพัฒนาศักยภาพของเด็ก ยังไม่เน้นเรื่องการอ่านเขียน
วันที่ ๑๖ (วันพฤหัสบดีที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่คณะครูที่เคยถวายพระอักษรภาษาจีน
วันที่ ๑๗ (วันศุกร์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน และทรงฝึกซอเอ้อร์หู เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงบัลเล่ต์ ณ โรงละครมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อ ค.ศ.๑๙๙๘
วันที่ ๑๘ (วันเสาร์ที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๔)
เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรวัดถานเจ้อ ซึ่งอยู่ห่างจากปักกิ่ง ๔๕ กิโลเมตร เริ่มสร้างในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ.๒๖๕–๓๑๖) แต่เดิมชื่อวัดเจียฝู สมัยราชวงศ์ถังเรียกวัดหลงเฉวียน สมัยจักรพรรดิคังซีเปลี่ยนชื่อเป็นวัดซิ่วอวิ๋น และเรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดถานเจ้อ เพราะมีบ่อน้ำและต้นเจ้อ (คือต้นหม่อนพันธุ์หนึ่ง) บนภูเขา ในสมัยราชวงศ์ชิงวัดนี้เป็นวัดหลวงที่สำคัญอันดับที่ ๑ มีวิหารต่างๆ เช่น ต้าสยงเป่าเตี้ยน หรือวิหารมหาวีระ วิหารจักรพรรดิเฉียนหลง วิหารไวโรจนะ วิหารพระกวนอิมพันมือ และวิหารปลาหิน เป็นต้น ทั้งยังมีต้นไม้จำนวนมาก เช่น ต้นสน ต้นไป๋ใหญ่ ต้นไป๋ขึ้นสวรรค์ ต้นแป๊ะก๊วยใหญ่ ต้นทั่นชุน ต้นอิ๋งชุน และต้นพลับ เป็นต้น
วันที่ ๑๙ (วันอาทิตย์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๔)
เสด็จฯ ไปบ้านนางเฉียนเจิ้งอิง รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมือง และเสด็จฯ ไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนโรดมสีหนุ และพระราชินีโมนิก แห่งกัมพูชา ณ พระตำหนักที่ประทับ
วันที่ ๒๐ (วันจันทร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน และทรงฝึกวาดภาพแบบจีน เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงและการพัฒนาการวิจัยแห่งชาติ มีด้านต่างๆ ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีจักรกลอัตโนมัติ เทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีพลังงาน และเทคโนโลยีทางทะเล นอกจากนี้ยังนำหนูที่มีหูคนขึ้นอยู่กลางหลังมาแสดงด้วย เป็นหนูชนิดที่เพาะให้ไม่มีขนทั้งตัว สำหรับเป็นสัตว์ทดลอง
วันที่ ๒๑ (วันอังคารที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน เสวยพระกระยาหารค่ำร่วมกับคณะอดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ณ ห้องอาหารของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
วันที่ ๒๒ (วันพุธที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงสนทนาเรื่องปัญหาสตรีกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หลังจากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรงานค้นคว้าวิจัยของภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกิจการของบริษัท China PKU Weiming Biotechgroup ดร.เฉินจังเหลียง และดร.จังไอ้หัว จากภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ร่วมกันก่อตั้ง PKU Weiming Biotech Inc. ขึ้นเมื่อปี ๑๙๙๒ หลังจากนั้น ๗ ปี กลายเป็นกลุ่มบริษัท พีเคยู เว่ยหมิง ไบโอเทค ประกอบด้วยกลุ่มบริษัทไบโอเทคหลายบริษัท เน้นการวิจัยพัฒนา นำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ในด้านเภสัชกรรมที่ใช้พันธุวิศวกรรม ยาโบราณ ยาที่ประกอบด้วยสารเคมี เภสัชกรรมที่ใช้วิธีการผลิตทางวิศวเคมี วัคซีน น้ำยาอุปกรณ์สำหรับวินิจฉัยโรค พันธุวิศวกรรมด้านการเกษตร และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ
วันที่ ๒๓ (วันพฤหัสบดีที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน และทรงฝึกซอเอ้อร์หู เสด็จฯ ไปบ้านนายจี้เซี่ยนหลิน ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาสันสกฤตของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ปัจจุบันอายุ ๙๐ ปี ชาวซานตง สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่งและชิงหัว แต่เลือกศึกษาที่มหาวิทยาลัยชิงหัว เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยไปศึกษาภาษาสันสกฤตที่มหาวิทยาลัยเกอร์ทิงเกน จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก นอกจากนี้ยังศึกษาภาษาบาลี ภาษาพระเวท ภาษาปรากฤต ภาษา Hybrid Sanskrit ภาษารัสเซีย ภาษายูโกสลาเวีย และภาษาอาหรับ ศึกษาค้นคว้าเรื่องความสัมพันธ์จีน-อินเดีย พุทธศาสนา เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นบุคคลตัวอย่าง เป็นทั้งนักวิชาการ นักเขียน นักวิจัย ครู และผู้บริหาร ปัจจุบันยังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
วันที่ ๒๔ (วันศุกร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน ทรงสนทนาด้านวัฒนธรรมไทยกับอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงการร้องเพลงจากภาคตะวันตกของจีน ณ โรงละครมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
วันที่ ๒๕ (วันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๔)
พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เฝ้าฯ ณ ห้องรับรองหลินหูซวน
วันที่ ๒๖ (วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๔)
เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกำแพงเมืองจีนส่วนที่เรียกว่า มู่เถียนอวี้ อยู่ที่อำเภอหวยโหรว ห่างจากนครปักกิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร กำแพงส่วนนี้สร้างสมัยราชวงศ์หมิง โดยสร้างตามหลักพิชัยสงคราม หลังจากนั้น เสวยพระกระยาหารค่ำ ซึ่งศาสตราจารย์เหว่ยอวี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการจัดถวาย ณ โรงแรมแชงกรีลา
วันที่ ๒๗ (วันจันทร์ที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก ทรงพระอักษรภาษาจีน และทรงฝึกวาดภาพแบบจีน เสวยพระกระยาหารค่ำ นายถังเจียเสวียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจัดถวาย ณ กระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ ๒๘ (วันอังคารที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๔)
เสด็จฯ ไปมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เพื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ หลังจากนั้น เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่งจัดงานเลี้ยงฉลองถวาย ณ สถานเอกอัครราชทูต
วันที่ ๒๙ (วันพุธที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๔)
ทรงฝึกไทเก๊ก เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสวนพฤกษศาสตร์ (Beijing Botanical Garden Conservatory) ที่เซียงซาน สร้างเมื่อ ค.ศ.๑๙๙๙ ขึ้นกับนครปักกิ่ง สำหรับศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และพักผ่อนหย่อนใจ มีสวนต่างๆ เช่น สวนโบตั๋น สวนกุหลาบ สวนไลแลก สวนแมกโนเลีย สวนไผ่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีส่วนเก็บไม้ดัดและไม้ถาดในอาคาร ส่วนเก็บต้นไม้ป่าฝนเขตร้อน ห้องพืชทะเลทราย ห้องเก็บต้นไม้กินสัตว์ และหินรูปร่างแปลกๆ ตอนค่ำ เสด็จฯ ไปทรงร่วมงานเลี้ยงที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งจัดถวาย ทรงซอเอ้อร์หูและซอด้วง
วันที่ ๓๐ (วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๔)
พระราชทานพระราชวโรกาสให้นางเฉียนเจิ้งอิง เฝ้าฯ และเสด็จฯ นิวัติสู่ประเทศไทย