พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2540
ประเทศ จีน
กลับไปหน้าที่แล้ว
เย็นสบายชายน้ำ
พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๘ ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๒๗ เมษายน ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นการเดินทางล่องแม่น้ำแยงซีเกียง หรือฉางเจียง ในพระราชนิพนธ์ “คำนำ” ทรงกล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ว่า
“…หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าได้ยินว่าจะมีการสร้างเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลกกั้นแม่น้ำฉางเจียง ถ้าโครงการสำเร็จแล้วน้ำจะท่วมพื้นที่กว้างใหญ่ เมืองหรือสถานที่น่าสนใจหลายแห่งจะถูกน้ำท่วมหมด ถ้าอยากจะดูก็ต้องรีบดูในปีสองปีนี้
“โครงการสร้างเขื่อนซานเสีย ซึ่งข้าพเจ้าลองแปลเป็นไทยว่าโตรกเขาทั้งสามนี้ เป็นกรณีที่มีการโต้แย้งกันมาก ทั่วโลกว่ายังประโยชน์มหาศาลหรือก่อให้เกิดผลเสีย…
“ข้าพเจ้าไม่มีความรู้พอที่จะตัดสินว่าสุดท้ายควรทำหรือไม่ แต่ก็จะบันทึกความคิดต่างๆ ที่จะได้ยินได้ฟังต่อไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หวังว่าข้อมูลที่ข้าพเจ้าและคณะบันทึกในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์บ้าง…”
วันที่ ๑ (วันพุธที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๙)
เสด็จ ฯ ถึงนครคุนหมิง เสด็จ ฯ ไปยังเรือนรับรองเจิ้นจวง ทอดพระเนตรงาน China Kunming Export Commodities Fair’๙๖ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าท้องถิ่น จัดโดยรัฐบาลมณฑลเสฉวน มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว ภูมิภาคปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี ภูมิภาคปกครองตนเองทิเบต นครเฉิงตู และนครฉงชิ่ง กระทรวงการค้าต่างประเทศ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางให้ความเห็นชอบ มีหลักการคือภาคตะวันตกเฉียงใต้เป็นภาคหนึ่งของจีนที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถือได้ว่าเป็นประตูสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในงานมีการแสดงสินค้าและเปิดโอกาสให้นักธุรกิจเจรจาทำข้อตกลงในด้านการค้าส่งออก การรับเทคโนโลยี การลงทุน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระหว่างประเทศ การพัฒนาการค้าชายแดน และการท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น
เสด็จ ฯ ต่อไปยังเมืองฉงชิ่ง คำว่า “ฉงชิ่ง” หมายถึง การเฉลิมฉลองสิริมงคลสองครั้ง เนื่องจากพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ประสูติที่นี่ แล้วได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้ากงตี้ ได้สืบราชสมบัติ (ครองราชย์ ค.ศ.๑๒๗๕–๑๒๗๖) จึงทรงถือว่าเป็นสิริมงคลสองชั้น
เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง และกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ โรงแรมที่ประทับ
วันที่ ๒ (วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๙)
เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรภาพหินสลักที่เป๋าติ่งซาน อำเภอต้าจู๋ (ต้าจู๋แปลว่าอุดมสมบูรณ์) เป๋าติ่งซานได้รับยกย่องให้เป็นสถานที่อนุรักษ์ด้านวัตถุโบราณระดับประเทศ นายอำเภอต้าจู๋จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวันถวาย ณ โรงแรมต้าจู๋ ต่อจากนั้น เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรอนุสรณ์สถานหงเหยียนชุน (ซึ่งแปลว่าหมู่บ้านผาแดง) นายกเทศมนตรีเมืองฉงชิ่งจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ โรงแรมที่ประทับ
วันที่ ๓ (วันศุกร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๙)
เสด็จ ฯ ไปหมู่บ้านจิตรกร ซึ่งสร้างตั้งแต่เริ่มสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน มีจิตรกร ๑๗ คน เขียนภาพพู่กันจีน สีน้ำมันแบบฝรั่ง และภาพพิมพ์ไม้ เสด็จ ฯ ไปสวนเอ๋อหลิ่งหยวน หรือสวนภูเขาห่านเนื่องจากภูเขาบริเวณนั้นมีลักษณะเหมือนหัวห่าน เสด็จ ฯ ไปศาลาประชาชน ซึ่งเกิดจากความคิดของจอมพลเฮ่อหลง สถาปัตยกรรมแบบหอเทียนถานในกรุงปักกิ่ง สร้างเพื่อใช้ในการประชุมสภาผู้แทนประชาชน และเป็นโรงละครสำหรับประชาชนมาดูการแสดงต่าง ๆ
ต่อจากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังท่าเรือ ประทับเรือพระที่นั่งปาซาน ทรงฟังการบรรยายเรื่อง โครงการก่อสร้างเขื่อนซานเสีย ตั้งอยู่ ณ ตำบลซานโต่วผิง เมืองอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย เป็นเขื่อนแรกบนลำน้ำสายหลักของแม่น้ำฉางเจียง ระยะเวลาก่อสร้าง ๑๗ ปี (พ.ศ.๒๕๓๖–๒๕๕๒) เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นเขื่อนใหญ่ที่สามารถผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้มากที่สุดในโลก ส่งไปใช้ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศจีน จนถึงนครเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งพื้นที่ภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวน ทดแทนการเผาเชื้อเพลิงจากถ่านหินซึ่งทำให้เกิดมลภาวะได้ปีละ ๔๐–๕๐ ล้านตัน อำนวยประโยชน์ด้านการเดินเรือ เพิ่มปริมาณการขนส่งทางน้ำได้ ๕ เท่า และลดค่าใช้จ่ายได้ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพของระบบควบคุมอุทกภัย
วันที่ ๔ (วันเสาร์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๙)
เสด็จ ฯ ถึงนครว่านเซี่ยน (ว่านเซี่ยนหมายถึงแม่น้ำหมื่นสายมารวมกัน) เป็นเมืองท่า ๑ ใน ๑๐ เมืองท่าสำคัญของแม่น้ำฉางเจียง การสร้างเขื่อน จะทำให้น้ำท่วมที่นี่ นครนี้มีอพยพหนักที่สุดในโครงการ ทั้งรัฐบาลและประชาชนสนับสนุนการก่อสร้างและการอพยพ นครว่านเซี่ยนยืนหยัดนโยบายพึ่งตนเอง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑลต่าง ๆ เสด็จ ฯ ไปยังที่ว่าการสำนักงานก่อสร้างโครงการซานเสีย ประทับเรือพระที่นั่ง เสด็จ ฯ ต่อไปยังอำเภอเฟิ่งเจี๋ย เสด็จลงเรือพระที่นั่งขนาดเล็กไปทอดพระเนตรเมืองไป๋ตี้เฉิงซึ่งตั้งอยู่บนภูเขา เสด็จ ฯ ไปประทับเรือพระที่นั่งปาซาน
วันที่ ๕ (วันอาทิตย์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๙)
ประทับเรือพระที่นั่งขนาดเล็กทอดพระเนตรซานเสียน้อย (เสี่ยวซานเสีย) เป็นบริเวณที่แม่น้ำฉางเจียงและแม่น้ำต้าหนิงเหอบรรจบกัน ทรงลงเรือพระที่นั่งขนาดเล็กไปทอดพระเนตรเสียวเซี่ยวซานเสีย ประทับเรือพระที่นั่งปาซานไปยังอำเภอจื่อกุย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้รักชาติชูหยวน และหวังเจาจวิน ๑ ใน ๔ สาวงามที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์จีน ทอดพระเนตรศาลเจ้าชูหยวน ซึ่งมีรูปทองสำริดของชูหยวนสูง ๓.๙๗ เมตร ภายในศาลเจ้าเก็บภาพวาด ลายมือ และหนังสือทุกภาษาที่เกี่ยวกับชูหยวน และเรื่องเกี่ยวกับอำเภอนี้ที่แปลกๆ รวมทั้งรูปสลักหินชูหยวน สมัยราชวงศ์หมิง
วันที่ ๖ (วันจันทร์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๙)
เสด็จ ฯ ไปยังสำนักงานบริษัทพัฒนาโครงการซานเสีย ทอดพระเนตรสถานที่ก่อสร้างเขื่อนซานเสีย สะพานซีหลิง ซึ่งเป็นสะพานแขวนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เสด็จ ฯ กลับเรือพระที่นั่งปาซาน
วันที่ ๗ (วันอังคารที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๙)
เสด็จ ฯ ถึงอำเภอผู่ฉี ทอดพระเนตรบริเวณที่โจโฉแตกทัพเรือ มีพิพิธภัณฑ์ และวนอุทยานน้ำ ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวตอนดังกล่าวในสามก๊ก เสด็จ ฯ ต่อไปยังนครอู่ฮั่น ทอดพระเนตรหอหวงเฮ่อ (แปลว่าหอนกกระเรียนเหลือง) มีความสูง ๕ ชั้น หอนี้ได้รับรางวัลหลู่ปันซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดทางการก่อสร้าง (หลู่ปันเป็นเทพทางสถาปัตยกรรมของจีน) และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหูเป่ย ผู้ว่าราชการมณฑลหูเป่ยจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ โรงแรมที่ประทับ Lake View Garden
มณฑลหูเป่ยอยู่ภาคกลางเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่สำคัญของจีน เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ๙ มณฑล มีแม่น้ำ ๖ สาย มีมหาวิทยาลัย ๖๒ แห่ง การศึกษาเป็นอันดับ ๕ ของประเทศ
วันที่ ๘ (วันพุธที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๓๙)
ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จ ฯ ไปยังกรุงปักกิ่ง เสด็จ ฯ ไปมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง ทรงพบนายเจียงเจ๋อหมิน ประธานาธิบดี ณ บ้านพักจงหนานไห่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเฉียนฉีเฉิน จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ เรือนรับรองเตี้ยวหยูว์ไถ
วันที่ ๙ (วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๙)
เสด็จ ฯ ไปหอดูดาวโบราณปักกิ่ง ซึ่งเป็นหอดูดาวที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง สร้างตั้งแต่ ค.ศ.๑๔๔๒ (พ.ศ.๑๙๘๕) สมัยราชวงศ์หมิง เสด็จ ฯ ไปพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ มีเรื่องราวเกี่ยวกับวิชาดาราศาสตร์โบราณสลักไว้บนหินหรือเครื่องปั้น และเสด็จ ฯ ไปสภากาชาดจีน นายหลี่เผิง นายกรัฐมนตรีและภริยา จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวันถวาย ณ เรือนรับรองเตี้ยวหยูว์ไถ เสด็จ ฯ โดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังเมืองหวงซาน มณฑลอันฮุย นายหลูหรงจิ่ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ มณฑลอันฮุย จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ โรงแรมที่ประทับ
มณฑลอันฮุยอยู่กลางกลุ่มมณฑลด้านตะวันออก ทรัพยากรธรรมชาติคือ เหล็กกล้า ถ่านหิน ทองคำ ทองแดง และดินอุดมสมบูรณ์จึงมีการเกษตรที่ดี ทั้งยังมีทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น ภูเขาหวงซาน ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ ของภูเขาที่สวยงามที่สุดในจีน ยูเนสโกประกาศให้หวงซานเป็นสถานที่ควรอนุรักษ์ สี่ฤดูจะงดงามแตกต่างกันไป นอกจากนี้แล้วมณฑลอันฮุยยังมีเศรษฐกิจที่ดีอีกด้วย
วันที่ ๑๐ (วันศุกร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๙)
เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรทัศนียภาพเขาหวงซาน
วันที่ ๑๑ (วันเสาร์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๙)
ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรยอดเขากวงหมิงติ่ง ซึ่งเป็นภูเขายอดแรกที่พระอาทิตย์ส่องไปถึง (คำว่า “กวงหมิง” แปลว่า แสงสว่าง “ติ่ง” แปลว่า ยอด) เขาตันเสีย ผาสะท้อนเสียง และยอดเขาซ่างเซิงเฟิง
เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรร้านค้าที่ถนนเก่าในเขตเมืองหวงซาน และโรงงานผลิตแท่งหมึกของทางการ ชื่อ กั๋วอิ๋งตุนซีฮุยโจวหูไคเหวินเม่อฉ่าง ซึ่งเจ้าของรายแรกผู้ตั้งโรงงานชื่อ หูเทียนจู้ หรือหูเจิ้ง มีตำแหน่งราชการเป็นไคเหวิน เปิดร้านใน ค.ศ.๑๗๘๒ ปีที่ ๔๗ ในรัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง ผลิตหมึกที่ดีมีคุณภาพ มีแสงมันเป็นเงางาม กลิ่นหอม ไม่เหนียวติดพู่กัน ไม่ซึมในกระดาษ หมึกที่มีชื่อ คือหมึกชะมด มีสรรพคุณทำให้เลือดลมเดินสะดวก
วันที่ ๑๒ (วันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๙)
เสด็จ ฯ ต่อไปยังมหานครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดทางด้านอุตสาหกรรม ประทับเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำหวงผู่ ซึ่งไหลมาจากทะเลสาบไท่หูในเมืองหังโจว ไหลผ่านนครเซี่ยงไฮ้ แบ่งนครเซี่ยงไฮ้เป็นสองฝั่ง คือผู่ซีซึ่งเป็นเมืองเก่า และผู่ตงซึ่งเป็นเมืองใหม่ ทอดพระเนตรเรือรบหลวงสิมิลันที่อู่ต่อเรือหู้ตง นายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ โรงแรมที่ประทับ
วันที่ ๑๓ (วันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๙)
ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์หลู่ซุ่น อนุสาวรีย์หลู่ซุ่น และบ้านของหลู่ซุ่น (ค.ศ.๑๘๘๑–๑๙๓๖) ซึ่งเป็นนักเขียน นักปรัชญา นักปฏิวัติ ชาวจีน เชื่อว่าวรรณกรรมจะช่วยให้คนจีนตื่นจากการนอนหลับ ให้เข้าใจระบบการปกครองที่ล้มเหลว ของรัฐบาลแมนจูราชวงศ์ชิง
ในการเสด็จ ฯ ครั้งนี้ ทรงพระราชนิพนธ์ถึงหลู่ซุ่นไว้ตอนหนึ่งว่า “เมื่อศึกษาประวัติของหลู่ซุ่น ข้าพเจ้าประทับใจในความยึดมั่นอุดมการณ์ ความเป็นอยู่อย่างสมถะเรียบง่าย ภารกิจในการให้ความรู้แก่คนหรือปลุกเพื่อนร่วมชาติให้ตื่นขึ้นจากความไม่รู้และความเฉื่อยชา ในโลกสมัยใหม่ที่ว่ากันว่าไร้ขอบเขตไร้พรมแดนนั้น เป็นเรื่องที่ควรช่วยกันคิดไตร่ตรอง จะต้องให้ความรู้แก่คนในสังคมเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทและความเป็นอยู่เช่นไรเพียงใดจึงจะพอเหมาะพอควร”
ทอดพระเนตรหอโทรทัศน์ไข่มุกตะวันออก ซึ่งเป็นหอโทรทัศน์ สูง ๔๖๘ เมตร นับเป็นหอที่สูงที่สุดในประเทศจีน เสด็จ ฯ ไปยังเขตเศรษฐกิจผู่ตง ทอดพระเนตรย่านการค้าโบราณ และสวนยู่หยวน ทอดพระเนตรมหานครเซี่ยงไฮ้ยามค่ำ
วันที่ ๑๔ (วันอังคารที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๙)
เสด็จ ฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดธนาคาร TMI ซึ่งเป็นธนาคารที่ต่างชาติลงทุนแห่งแรกในประเทศจีน โดยธนาคารแห่งประเทศจีนอนุญาตให้ดำเนินการ เป็นการร่วมทุนของกลุ่มหมิงไท่ กลุ่มซีพี และธนาคารกสิกรไทย ทอดพระเนตรกิจการของโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์เซี่ยงไฮ้เอกชอ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพี ร่วมทุนกับจีน เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดของโลก หลังจากนั้นเสด็จ ฯ ไปร้านหนังสือ และเสด็จ ฯ นิวัติประเทศไทย
ภาคผนวก
ทรงพระราชนิพนธ์รายละเอียดเกี่ยวกับ “รัตนะในห้องหนังสือ (เหวินฝังซื่อเป่า)” ซึ่งประกอบด้วยพู่กัน (ปี่) หมึก (โม่) กระดาษ (จื่อ) และแท่นฝนหมึก (เอี้ยน) เรือหลวงสิมิลัน และแม่น้ำแยงซี หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “ฉางเจียง” ซึ่งแปลว่าแม่น้ำยาว