พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2534
ประเทศ เกาหลี, จีน
กลับไปหน้าที่แล้ว
แกะรอยโสม
พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๔ ที่ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔ ทรงมีพระราชทัศนะเกี่ยวกับการเดินทางในครั้งนี้ดังได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในคำนำว่า
“หลังจากเหตุการณ์การรวมเยอรมันในรอบปีที่ผ่านมา ข่าวจากสื่อมวลชนที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่ในช่วงนี้ ในบรรดาเรื่องราวอันยุ่งเหยิงทั้งปวง ก็จะมีเรื่องของการเจรจาเพื่อความเข้าใจกันระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ ชนชาติเดียวกันที่มีความจำเป็นที่ต้องแยกจากกันด้วยเหตุแห่งสงครามเย็นอยู่ด้วยเรื่องหนึ่ง มีคนมาถามข้าพเจ้าหลายครั้งว่ามีความรู้สึกอย่างไร ที่ได้มีโอกาสไปเยือนถึงเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในช่วงเวลาเดียวกัน เห็นว่าจะมีแนวโน้มที่สองประเทศนี้จะร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้หรือไม่
"เมื่อฟังคำถาม ข้าพเจ้ากลับคิดถึงข้อวิจารณ์ที่ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้เคยปรารภกับข้าพเจ้าถึงเรื่องการเดินทางของนักเดินทางหรือนักสำรวจในศตวรรษก่อนที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับภูมิภาคของเรา ว่าเขียนถูกบ้างผิดบ้าง จะเอาอย่างไรกับคนต่างวัฒนธรรมที่แวะมาชั่วครู่ชั่วยาม ตัวข้าพเจ้าเมื่อเติบโตมา ก็ไม่เคยพำนักในประเทศใดประเทศหนึ่งเกินกว่าสองสามสัปดาห์ ความรู้เกี่ยวกับต่างประเทศก็มีอยู่ค่อนข้างจะจำกัด การเดินทางไปเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ก็อยู่เพียงประเทศละสามสี่วัน ก่อนไปก็มิได้เคยค้นคว้าเกี่ยวกับประเทศทั้งสองนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน จึงไม่เป็นการสมควรแต่ประการใดที่จะให้ข้อคิด หรือวิจารณ์เรื่องราวที่ลึกซึ้งของประเทศเขา สิ่งที่ตั้งใจเขียนในหนังสือ “แกะรอยโสม” เล่มนี้จึงเป็นเพียงการเล่าถึงสิ่งที่ได้ไปพบเห็นในชั่วระยะเวลาสั้น ๆ และอาจจะสอดแทรกความรู้สึกที่เป็น “ปฏิกิริยาอัตโนมัติ” ต่อประสบการณ์ดังกล่าว เพื่อผู้ที่ได้อ่านจะได้เก็บเอาข้อมูลดิบเหล่านี้ ไปร่วมกับข้อมูลที่ท่านมีอยู่แล้ว ลงความคิดวิเคราะห์ต่อไป
"อนึ่ง ในการเดินทางไปเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ จำเป็นจะต้องหยุดอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสนี้ เพิ่มเติมประสบการณ์เกี่ยวกับประเทศจีนให้แก่ตัวข้าพเจ้าเองและแก่ผู้อ่านที่ติดตามการท่องเที่ยวในโลกกว้างของข้าพเจ้ามาตลอด”
“เกาหลีใต้”
เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งจากกรุงเทพ ฯ ไปยังกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลี ทอดพระเนตรงานศิลปะต่าง ๆ เช่น ภาพศิลปะทางพุทธศาสนา ศิลปะจากเอเชียกลาง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะสมัยราชวงศ์ถัง พระพุทธรูป เป็นต้น จากนั้น เสด็จฯ ไปทรงพบประธานาธิบดี โนห์ แต วู และเสวยพระกระยาหารกลางวัน มาดามชอย ธิดาประธานาธิบดีจัดถวาย ณ ทำเนียบประธานาธิบดี ต่อจากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังมหาวิทยาลัยอีหว่า เป็นมหาวิทยาลัยสตรีที่เก่าแก่ที่สุด ทรงเยี่ยมโรงเรียนประถมสาธิต โรงเรียนอนุบาล หอสมุดกลางและพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย ทรงแสดงปาฐกถาเรื่อง การสอนวิชาเกษตรแก่นักเรียนในเมืองและในชนบท ณ ห้องประชุมของมหาวิทยาลัย ในช่วงค่ำ เสวยพระกระยาหารค่ำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจัดถวาย ณ ทำเนียบรัฐมนตรี
วันต่อมา เสด็จฯ ไปยังมหาวิทยาลัยจุงอัง เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์ จากนั้น เสด็จฯ ไปยังองค์การพัฒนาชนบท ที่เมือง Suweon เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพัฒนาชนบททั้งหมด รวมทั้งงานด้านการเกษตร การวิจัย การพัฒนาและส่งเสริม กับการจัดตั้งองค์การของเกษตรกร และร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ให้มาศึกษาดูงาน แล้วเสด็จฯ ไปยังสถานีวิจัยหม่อนไหม
เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟกรุงโซลไปยังเมืองเคียงจู ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔ ชั่วโมง จึงเสวยพระกระยาหารกลางวันบนรถไฟ ชื่อเมืองเคียงจูมีความหมายในภาษาเกาหลีว่า “Happy promise” ณ เมืองเคียงจู เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรวัดพุลกุกซา ชื่อวัดมีความหมายว่าดินแดนของพระพุทธเจ้า สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ ๖ และได้รับการบูรณะใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘-๒๐ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองเคียงจู สุสานราชวงศ์ Silla เมืองเคียงจูนี้มีศิลปวัตถุมาก จึงเรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่มีกำแพง เป็นแหล่งศึกษาทางด้านศิลปวัฒนธรรม มีการควบคุมความสูงของอาคาร บูรณะบ้านเรือนเก่า ๆ และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างดี ยูเนสโกจึงได้ประกาศให้เมืองเคียงจูเป็นวัฒนธรรมของโลก
“จีน”
เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งจากกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แล้วประทับเครื่องบินพระที่นั่งของสายการบินจีน เสด็จฯ ต่อไปยังกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ กรุงปักกิ่ง เสด็จฯ ไปยังสถาบันสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม ทอดพระเนตรนิทรรศการและโครงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับรีโมทเซนซิ่ง การสาธิตระบบข้อสนเทศทางภูมิศาสตร์ เสด็จฯ ไปยังสถาบันวิจัยภาวะแวดล้อม ทอดพระเนตรศูนย์คอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เสด็จฯ ไปยังศูนย์กีฬาและบันเทิงคังเล่อกง ศูนย์การค้าเป่ยฉิง
วันต่อมา เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกิจการของโรงงานเคมีภัณฑ์ที่ ๔ ซึ่งผลิตสิ่งของเครื่องใช้ประจำวันประเภทสบู่ ครีม มีห้องปฏิบัติการทางด้านพืชสมุนไพร แล้วเสด็จฯ ไปยังโรงงานผลิตเสื้อเชิ้ต เสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อจากต่างประเทศ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ
เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสวนหยวนหมิงหยวน สร้างในสมัยราชวงศ์ชิง ชื่ออาคาร สวนและสระน้ำในสวนแห่งนี้ล้วนมีความหมายต่าง ๆ ที่ไพเราะ เช่น ทะเลสาบฟู่ไห่ คือทะเลแห่งความสุข ทอดพระเนตร “หมีกง” แปลว่าวังหลงทาง มีลักษณะเป็นเขาวงกต มีกำแพงเป็นปูน ตรงกลางเป็นศาลา เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ ทอดพระเนตรบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งพระราชวังเดิม ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก จากนั้น เสด็จฯ ไปยังสถาบันวิจัยพฤกษศาสตร์เซียงซาน ขึ้นกับสภาวิจัยวิทยาศาสตร์จีน มีการวิจัยเรื่องพืช และมีสวนพฤกษศาสตร์ที่มีพืชกว่า ๕,๐๐๐ ชนิด ทอดพระเนตรสวนสนที่สะสมสนพันธุ์ต่าง ๆ เรือนกระจกที่รวบรวมพืชหลายชนิด รวมทั้งพืชเมืองร้อน สวนไม้ใบไม้ดอก เป็นต้น
เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการเรียนการสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักศึกษาไทยเฝ้าฯ จากนั้น เสด็จฯ ไปยังถนนซูโจว เป็นถนนเข้าสวนพระราชวังฤดูร้อนคือวังอีเหอหยวน ทรงพระดำเนินทอดพระเนตรร้านค้าต่าง ๆ แล้วเสด็จฯ ไปทอดพระเนตร "โจวโข่วเตี้ยน" ซึ่งเป็นที่ค้นพบมนุษย์ปักกิ่งที่มีชื่อเสียง ทอดพระเนตรถ้ำมนุษย์ปักกิ่ง พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องมนุษย์โบราณ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรวัดหยุนจู มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดซีหยูว เป็นที่เก็บแผ่นศิลาจารึกพระไตรปิฎกภาษาจีนที่สมบูรณ์มาก ในช่วงค่ำ เสวยพระกระยาหารค่ำ นายหลี่ เผิง นายกรัฐมนตรีจัดถวาย ณ เรือนรับรองเตี้ยวหยูวไถ อาคาร ๑๘
“เกาหลีเหนือ”
เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งจากกรุงปักกิ่งไปยังกรุงเปียงยาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ประทับรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรสถานที่สำคัญของกรุงเปียงยาง นครหลวงของสาธารณรัฐ เป็นเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่เพราะเมืองเก่าถูกระเบิดเสียหายมากในระหว่างสงคราม เสด็จฯ ไปทรงพบนาย Li Jong Ok รองประธานาธิบดี และเสวยพระกระยาหารค่ำ รองประธานาธิบดี จัดถวาย ณ ตึกรัฐสภามันซูแด
วันต่อมา เสด็จฯ ไปทรงพบนาย Yang Hyong Sop ประธานสภาประชาชนสูงสุด รองประธานาธิบดี และรองนายกรัฐมนตรี ณ ตึกรัฐสภามันซูแด ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดของประเทศ และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์
เสด็จฯ ไปยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ทอดพระเนตรการจัดแสดงสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ วิวัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่มนุษย์ Picanthrop ที่พบในเปียงยางเมื่อปี ๑๙๖๖ เครื่องมือหินเมื่อล้านปีมาแล้ว ซากดึกดำบรรพ์สมัย Paleolithic อายุราว ๑๐๐,๐๐๐ ปี พบที่เปียงยางเมื่อปี ๑๙๗๗ เป็นต้น ในช่วงบ่าย เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรบ้านเกิดประธานาธิบดี กิม อิล ซุง ที่ Mangyongdae ที่ยังรักษาสิ่งของเครื่องใช้ที่คุณปู่คุณย่าและประธานาธิบดีเคยใช้ เช่น เครื่องใช้ในการทำไร่ทำนา เครื่องทอผ้า เครื่องทำบะหมี่ เครื่องสับหญ้าเลี้ยงสัตว์ โอ่งดองกิมจิ จากนั้น เสด็จฯ ทอดพระเนตรเขื่อนทะเลตะวันตก ที่เมืองนามโป เป็นเขื่อนกั้นปากน้ำแตดง ใช้เวลาสร้างถึง ๕ ปี มีประโยชน์หลายด้าน ทั้งด้านการคมนาคม ป้องกันอุทกภัย ชักน้ำเข้ามาใช้ตามไร่นาได้ และยังป้องกันน้ำเค็มขึ้นมาในแม่น้ำ ในช่วงค่ำ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงที่โรงละครมันซูแด
เสด็จฯ ไปทรงพบประธานาธิบดีกิม อิล ซุง และเสวยพระกระยาหารกลางวัน ประธานาธิบดีจัดถวาย ณ ทำเนียบประธานาธิบดี จากนั้น เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลหญิงหรือโรงพยาบาลสูติกรรม เป็นศูนย์บริการแม่และเด็กส่วนกลาง ประสานงานกับศูนย์ทั่วประเทศ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสถานีรถไฟใต้ดิน สถาบันศิลปะมันซูแด วังเยาวชนมันซูแด มีห้องกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับเยาวชน อาทิ สระว่ายน้ำ ห้องกระโดดน้ำ ห้องดนตรี ห้องวาดภาพ ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องวิทยาศาสตร์ ทอดพระเนตรการแสดงของเด็ก มีการแสดงดนตรี ระบำพื้นเมือง วงดนตรีพื้นเมือง ระบำเตะฟุตบอล ระบำบัลเลต์ และการแสดงยิมนาสติกประกอบเพลง