หนังสือพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี



พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537
ประเทศ รัสเซีย
กลับไปหน้าที่แล้ว

รอยยิ้มหมีขาว


      พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๔ ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐสภารัสเซีย ระหว่างวันที่ ๑๓-๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ 

     เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่ง สายการบินแอโรฟลอต จากกรุงเทพฯ ไปยังกรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย เสด็จ ฯ ไปยังพระราชวังเครมลิน ทอดพระเนตรศาสนสถาน พิพิธภัณฑ์เครื่องมหรรฆภัณฑ์ (เครื่องเพชรและเครื่องอัญมณีโบราณ) Armoury Chamber ห้องเสื้อเกราะและอาวุธ จากนั้น ประทับรถไฟใต้ดินจากสถานีมายาคอฟสกาย่าไปยังสถานีจัตุรัสสเวียร์ดลอฟสกาย่า ทรงเล่าเกี่ยวกับสถานีรถไฟใต้ดินไว้ในพระราชนิพนธ์ ความตอนหนึ่งว่า

     “...สถานีรถไฟใต้ดินของรัสเซียสร้างอย่างมีศิลปะสวยงาม ตกแต่งด้วยโมเสกหินอ่อนและหินแกรนิต มีรูปหล่อทองแดงขนาดเท่าคน เป็นรูปบุคคลต่าง ๆ ในสังคม จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปอีกแห่งหนึ่ง ถึงกับมีคนทำหนังสือเรื่องสถานีรถไฟใต้ดิน สถานีเก่า ๆ มีเครื่องตกแต่งประดับประดามากกว่าสถานีรุ่นใหม่ ๆ ได้ยินว่าในสมัยสงครามสถานีรถไฟใต้ดินเป็นที่หลบระเบิด เป็นห้องประชุมของรัฐบาล สถานีที่สร้างครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๓๕ ตอนระยะเริ่มแรกสร้างไม่ค่อยลึกนัก ไม่เกิน ๒๐ เมตร ต่อมามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงขุดได้ลึกขึ้น ขุดผ่านใต้แม่น้ำมอสโกถึง ๑๕๐ แห่ง กระจายไปรอบ ๆ มอสโก มีเครมลินเป็นศูนย์กลาง คนรัสเซียชอบรถใต้ดินเพราะว่าปรับอากาศกำลังสบายไม่ร้อนไม่หนาว...”

     เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ศิลปะเตรเตียคอฟ ที่เก็บรวบรวมภาพเขียนทางศาสนานิกายกรีกออร์ธอดอกซ์ (นิกายตะวันออก) ที่เรียกว่า icon ตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ และภาพเขียนของจิตรกรรัสเซียในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ เป็นภาพทางโลกเกี่ยวกับธรรมชาติและชีวิตประจำวัน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกระแสของศิลปะทางยุโรป ในช่วงค่ำ เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงบัลเลต์ ณ โรงละครบอลชอย

     วันต่อมา เสด็จ ฯ ไปยังจัตุรัสแดง ทอดพระเนตรวิหารเซนต์บาเซล ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงาม เสด็จ ฯ ไปยังสมาคมมิตรภาพรัสเซีย-ไทย ดำเนินงานส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ การลงทุน การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม วัฒนธรรมและวิชาการ จากนั้น เสด็จ ฯ ไปทรงพบนายรุสลัน คาสบูลาตอฟ ประธานรัฐสภารัสเซีย ณ ที่ทำการรัฐสภา และเสวยพระกระยาหารกลางวัน ประธานรัฐสภาจัดถวาย ในช่วงบ่าย เสด็จ ฯ ไปยังสภากาชาดรัสเซีย เป็นองค์การที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐบาลที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุด มีภารกิจช่วยเหลือชาวรัสเซียที่เดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติที่เกิดจากอุตสาหกรรม และภัยสงคราม ต่อจากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังราชบัณฑิตยสถานแห่งชาติรัสเซีย เป็นสถาบันเก่าแก่ที่พระเจ้าปีเตอร์มหาราชทรงตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๗๒๔ และเสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรร้านหนังสือคนีกี้

     เสด็จ ฯ ไปยังเมืองซากอส ทอดพระเนตรมหาวิหารทรินีตี้ (The Troite Cathedral) สร้างใน ค.ศ. ๑๔๒๒ เป็นที่ฝังศพ St. Sergius ซึ่งเป็นนักบุญที่เป็นที่เคารพของคนรัสเซียทั่วไป รูปเคารพ (icon) ในวิหารนี้เป็นรูปทรินีตี้ คือ พระบิดา พระจิต และพระบุตร ภาพเซนต์นิโคลาส แม่พระ และรูปนักบุญต่าง ๆ ในวัดนี้มีตำหนักพระสังฆราชรัสเซีย วิทยาลัยสงฆ์สอนเทววิทยาและศิลปะทางศาสนา พิพิธภัณฑ์ที่มี icon ที่เก่าที่สุดอายุประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๗ หรือ ๘ วาดแล้วประดับด้วยพลอย ทรงพบอธิการบดีของวิทยาลัยสงฆ์ แล้วเสด็จ ฯ กลับมอสโก ในช่วงบ่าย เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์พุชกิ้น มีส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์อียิปต์ เอเชียกลาง ส่วนจัดแสดงภาพเขียนตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรหอสมุดแห่งชาติ (The State Lenin Library of the USSR) ได้ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับหอสมุด ความตอนหนึ่งว่า

     “...หอสมุดแห่งชาติแห่งนี้ตั้งขึ้นมาเป็นห้องสมุดประชาชนตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๖๒ เขาว่าเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง มีหนังสือ ๓๘ ล้านเล่ม เป็นแหล่งประสานงานทางวิชาการงานวิจัยในด้านบรรณารักษศาสตร์ เป็นแหล่งหนังสืออ้างอิงทำบรรณานุกรม แลกหนังสือระหว่างห้องสมุด เป็นพิพิธภัณฑ์หนังสือ เป็นส่วนของระบบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐ หน้าที่ของหอสมุดฯ คือส่งเสริมความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และด้านจิตใจของชาติ ให้การศึกษามวลชนถึงอุดมการณ์ของชาติ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในหมู่ประชาชน หนังสือของบุคคลสำคัญ ๆ ในรัสเซียก็รวมมาไว้นี่หมด เขามีหนังสือเก่าที่สวยงามมาก ห้องแผนที่ของเขารวมหนังสือแผนที่ตั้งแต่โบราณถึงสมัยใหม่ทุกประเภท แม้แต่ที่เป็นหนังสือเด็ก รวมโน้ตเพลง หนังสือเพลงต่าง ๆ แผนกซ่อมหนังสือก็ถือว่าสำคัญ เอกสารสำคัญ ๆ ก็ลงในไมโครฟิล์ม ลงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ แม้แต่ช่วงที่มีงบประมาณน้อยเช่นเวลานี้ หรือช่วงสงครามโลก รัฐบาลยังต้องเจียดงบประมาณให้ เพราะถือว่าเป็นสมองของประเทศ...”

     จากนั้น ประทับเครื่องบินพระที่นั่งไปยังเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก ตั้งอยู่ปากแม่น้ำเนวาซึ่งไหลออกอ่าวฟินแลนด์ เป็นส่วนหนึ่งของทะเลบอลติก เดิมเมืองนี้ชื่อเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก ตามพระนามของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเลนินกราด และได้เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กตามเดิมแล้ว

     เสด็จ ฯ ไปทรงวางพวงมาลาที่อนุสรณ์สถาน The Piskaryovskoye Memorial Cemetery เป็นสถานที่ฝังศพผู้เสียชีวิตระหว่างที่เยอรมันล้อมเลนินกราดใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ทั้งพลเรือนและทหารเสียชีวิตรวมกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน แต่นำมาฝังศพที่สุสานนี้ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน ทอดพระเนตรอนุสาวรีย์และพิพิธภัณฑ์ จากนั้น เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรวิหารไอแซก สร้างปี ค.ศ. ๑๘๑๕- ๑๘๕๘ สถาปนิกผู้สร้าง ชื่อ นายมองต์แฟรองด์ เป็นชาวฝรั่งเศส สร้างเป็นวิหารขนาดใหญ่ มีโดมที่สูงที่สุดในโลก มี icon ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นรูปเซนต์นิโคลาส เซนต์ปีเตอร์ มีรูปหล่อสำริด ภาพเขียนงดงามมากมาย เสด็จ ฯ ไปยังสภาประชาชนแห่งนครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก และพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังฤดูหนาว ทอดพระเนตรการจัดแสดงภาพเขียนของจิตรกรยุโรป เครื่องใช้พอร์ซเลน เครื่องแก้วของยุโรป ห้องศิลปะรัสเซีย รูป icon ห้องเก็บเหรียญกษาปณ์ ห้องศิลปะตะวันออก เป็นต้น ในช่วงค่ำ เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรการแสดง ณ โรงละครมาลิยินสกี้

     เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรเรือรบหลวงออโรร่า เป็นเรือครูเซอร์ที่ปฏิบัติราชการสนามระหว่างสงครามกับญี่ปุ่น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕ เรือนี้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม เสด็จ ฯ ไปยังพระราชวังซาร์โกเซโล เป็นพระราชวังฤดูร้อนของซาร์รัสเซีย จากนั้น เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา ขึ้นกับสถาบันเหมืองแร่เลนินกราด เป็นสถาบันการศึกษาวิชาการเหมืองแร่ การสำรวจทางธรณีวิทยา เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรป้อมปีเตอร์แอนด์พอล พิพิธภัณฑ์อาร์กติกและแอนตาร์กติก จัดเก็บสิ่งของที่เกี่ยวกับการสำรวจดินแดนอาร์กติกและแอนตาร์กติกของรัสเซีย

     ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จ ฯ ไปยังเมืองอัสตราคาน เสด็จ ฯ ไปยังศาลากลาง ทรงฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับเมืองอัสตราคาน ซึ่งเป็นเมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัสเซีย มีประชากรหลายชนเผ่า เป็นเมืองการค้าอยู่ในเส้นทางสายแพรไหมในสมัยโบราณ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำวอลก้าซึ่งไหลไปออกทะเลสาบแคสเปียน เมืองนี้สามารถทำประมงจับปลาสเตอร์เจียนได้มาก ซึ่งไข่ปลาสเตอร์เจียนจากเมืองนี้นำมาผลิตคาเวียร์ได้มากและมีคุณภาพดี จากนั้น เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรโบสถ์อัสสัมชัญ เป็นวิหารกลางของนิกายออร์ธอดอกซ์ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ และห้องสมุดของเมืองอัสตราคาน ในช่วงค่ำ เสวยพระกระยาหารค่ำ นายวิโนคูรอฟ อิวาโนวิตช์ ประธานสภาประชาชนเมืองอัสตราคานจัดถวาย

     เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรเขตคาสโนยา เป็นเขตเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกพืชธรรมชาติแบบทุ่งหญ้าสเตปป์ ทรงเยี่ยมหมู่บ้านคนพื้นเมืองเผ่านาไก อาศัยอยู่ในไซบีเรียไปจนถึงลุ่มน้ำดานูบ ทั้งในรัสเซีย ตุรกี ฮังการี โรมาเนีย มีอาชีพเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนไปในทุ่งหญ้าสเตปป์ จากนั้น เสด็จ ฯ โรงกลั่นน้ำมันของอัสตราคาน เสด็จ ฯ ไปยังสะพานข้ามแม่น้ำวอลก้า เขื่อนกั้นแม่น้ำวอลก้า  แล้วประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จ ฯ ไปยังเมืองอูลันอูเด เมืองหลวงของสาธารณรัฐบูเรียต เป็นเขตอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม มีทะเลสาบไบคาล เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ลึกที่สุดในโลก มีพืช สัตว์ และทรัพยากรธรรมชาติมาก มีตัวเซเบิล ซึ่งขนมีราคาแพงมาก ใช้ทำเสื้อกันหนาวขนสัตว์

     เสด็จ ฯ ไปยังรัฐสภาที่เรียกว่า “โซเวียตสูงสุด” (Supreme Soviet) ทรงพบประธานสภานคร และทรงฟังการบรรยายเกี่ยวกับสาธารณรัฐบูเรียต ซึ่งถือเป็นสะพานเชื่อมไซบีเรียกับตะวันออกไกลของรัสเซีย จากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังศูนย์การแพทย์แผนโบราณแบบทิเบต พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ หมู่บ้านช่างฝีมือชาวบูเรียต พิพิธภัณฑ์เก็บของโบราณ ในช่วงค่ำ เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงพื้นเมือง ณ โรงละคร

     ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังทะเลสาบไบคาล เขตเมืองโกรยาชินสก์ ทอดพระเนตรป่าสนไทก้า แม่น้ำและทะเลสาบเป็นน้ำแข็ง ทรงทดลองประทับม้าลากเลื่อนบนน้ำแข็ง ทรงเยี่ยมสถานพักฟื้นสำหรับเด็ก แล้วเสด็จ ฯ กลับอูลันอูเด ในช่วงค่ำ ประทับเครื่องบินพระที่นั่งไปยังมอสโก โดยแวะพัก ณ เมือง Novosibirsk

     เสด็จ ฯ ไปยังศูนย์ฝึกนักบินอวกาศ ชื่อศูนย์กาการินตามชื่อนักบินอวกาศคนแรกของรัสเซีย แล้วเสด็จ ฯ ไปยังหอจดหมายเหตุของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย มหาวิทยาลัยมอสโก เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในรัสเซีย