ดนตรี


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงคุ้นเคยกับเสียงดนตรีไทยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นับวันเสด็จพระราชสมภพ ในการพระราชพิธีสมโภชต่างๆ เช่น เมื่อพระชันษาครบ ๓ วัน หรือพระราชพิธีสมโภชเดือน ขึ้นพระอู่ ก็มีวงดนตรีไทยประโคมประกอบในพิธีทุกครั้งไป ตามโบราณราชประเพณี พระพี่เลี้ยงกล่อมพระบรรทมก็ร้องเพลงกล่อมเด็กหรือเพลงไทยง่ายๆ ถวาย ครั้นทรงเจริญพระชันษา ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปในการพระราชพิธีต่างๆ หลายงาน มีวงดนตรี หรือแตร สังข์ บัณเฑาะว์ บรรเลงประกอบในพิธี

ก่อนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะตัดสินพระทัยเลือกฝึกดนตรีไทยนั้น เป็นเวลาที่เพลงไทยประเภทลูกทุ่งกำลังเฟื่องฟู ทรงติดตามฟังและโปรดเป็นอันมาก เพราะเป็นเพลงที่ แสดงถึงชีวิต และอารมณ์ของคนไทยได้ดี ทรงร้องเพลงลูกทุ่งได้หลายเพลง เพลงลูกทุ่งหลายเพลง ใช้ทำนองเพลงไทยเดิมง่าย แล้วแต่งเนื้อเพลงขึ้นใหม่ และทำได้ไพเราะน่าฟัง ทำให้ทรงรู้จัก ทำนองเพลงไทยเดิมหลายเพลง ลูกทุ่งจึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระองค์ทรงดนตรีไทยในระยะต่อมา ในชั่วโมงภาษาไทย อาจารย์กำชัย ทองหล่อ มักจะสอนให้นักเรียนจิตรลดาอ่านหนังสือบทกลอนเข้าทำนองต่างๆ ตั้งแต่หัดสวดกาพย์พระไชยสุริยาไปจนร้องเพลงไทยง่ายๆ นักเรียนคนใดอ่านทำนองเสนาะ ขับเสภา ร้องหุ่นกระบอก และเพลงต่างๆ ได้เหมาะสมถูกต้อง จะได้คะแนนเพิ่ม ขณะเดียวกัน นักเรียนได้ความรู้ ด้านดนตรีไทย ก่อให้เกิดความภูมิใจ ในวัฒนธรรมไทย ยิ่งทำให้ทรงซึมซับ ความไพเราะของดนตรีไทย

ทรงซอด้วง ทรงซอสามสาย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มหัดดนตรีไทยขณะทรงศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ทรงเลือกหัดซอด้วง ทรงเริ่มต่อเพลงพื้นฐาน เช่น เพลงฉิ่ง ๓ ชั้น เพลงจระเข้หางยาว ตวงพระธาตุ นกขมิ้น เป็นต้น ต่อมาทรงเรียนพิเศษ และทรงเรียนร้องเพลงกับคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ

ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเข้าเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทย ทั้งของคณะอักษรศาสตร์ และชมรมดนตรีไทยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงซอด้วงเป็นหลัก และทรงหัดเล่น เครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ซออู้ จะเข้ ขลุ่ย นอกจากนั้น ทรงเรียนร้องเพลงไทยกับอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน

๒๖ มี.ค. ๒๕๔๘ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๖ มี.ค. ๒๕๔๘ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดระนาดมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่ทรงตัดสินพระทัยเรียนระนาดเอกกับครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อย่างจริงจังเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อเสด็จฯ ไปทรงดนตรีเป็นประจำที่บ้านปลายเนิน คลองเตย ซึ่งเป็นวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงฝึกหัดอย่างถูกแบบแผน ตั้งแต่การจับไม้ระนาดและท่าประทับ ขณะทรงระนาด ทรงปรารภว่า ตีระนาดนี้ เมื่อยพระองค์ ทรงเรียนตีระนาดตามแบบอย่างโบราณ เริ่มด้วยเพลงต้นเพลงฉิ่งสามชั้น แล้วจึงทรงต่อเพลงจระเข้หางยาว เพลงตวงพระธาตุ และเพลงอื่นๆ ทรงฝึกไล่ระนาดทุกเช้าในห้องพระบรรทม และทรงฝึกการตีระนาดแบบต่างๆ บุคคลภายนอกไม่มีผู้ใดทราบ ว่าทรงฝึกระนาดเอก จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๙ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ ๑๗ ได้ทรงบรรเลงระนาดเอก ให้สาธารณชนได้ชมเป็นครั้งแรก เพลงที่ทรงบรรเลงคือเพลงนกขมิ้น (เถา) ร่วมกับครูอาวุโสของวงการดนตรีไทยหลายท่าน

งานไหว้ครู ณ บ้านปลายเนิน พิธีครอบระนาดเอก ซึ่งอาจารย์มนตรี ตราโมท เป็นผู้ถวายการครอบ ณ บ้านปลายเนิน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ ร่วมงานชุมนุมดนตรีไทย ของสถาบันระดับอุดมศึกษา เป็นครั้งแรก ในงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ ๑๒ เมื่อ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๒ ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร งานครั้งนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดงาน นับแต่นั้นได้เสด็จฯ ไปทรงร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ หากไม่มีพระราชกิจอื่นที่ทรงรับไว้ก่อนแล้ว

ในงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ ๑๗ (กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙) ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องเพลงชื่นชุมนุมกลุ่มดนตรี ที่อาจารย์มนตรี ตราโมท เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง เพื่อพระราชทานให้เป็นเพลงประจำ และเป็นเพลงสัญลักษณ์ งานดนตรีไทยอุดมศึกษา ในวันเปิดงานดนตรีไทยครั้งนี้ (วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙) ได้ทรงระนาดเอก นำวงดนตรีทุกสถาบัน บรรเลงเพลงชื่นชุมนุมกลุ่มดนตรี โดยใช้นิสิต นักศึกษาจำนวนมากขับร้องหมู่ ออกอากาศเป็นรายการสด ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง จากภาควิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อมาได้ใช้เพลงนี้ บรรเลงเป็นเพลงเปิดงาน ในงานดนตรีไทยอุดมศึกษาทุกปี มาจนถึงทุกวันนี้

งานมหกรรมมหาดุริยางค์ไทย (งานดนตรีไทยมัธยมศึกษา)

นอกจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธาน ในงานมหกรรม มหาดุริยางค์ไทย (งานดนตรีไทยมัธยมศึกษา) และงานดนตรีไทยประถมศึกษา และทรงพระกรุณา ทรงดนตรีร่วมกับนักเรียนด้วย ต่อมาทรงพระราชนิพนธ์บทความ เรื่อง เด็กและดนตรีไทย ลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ในบทพระราชนิพนธ์นี้ ได้พระราชทานข้อสังเกตเกี่ยวกับการสอนดนตรีไทยให้แก่เด็กๆ ทรงเสนอแนะ วิธีการสอนดนตรีไทยเด็กในแง่มุมต่างๆ ถึง ๑๐ ประการ และทรงแสดงทัศนะเรื่อง การสอนดนตรีเด็กชั้นประถมศึกษาตอนต้น ไว้ในบทความ เหตุใดข้าพเจ้าจึงชอบดนตรีไทย

ในฐานะที่ทรงเป็น ทูลกระหม่อมอาจารย์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงดนตรีไทยร่วมกับนักเรียนนายร้อย ชมรมดนตรีไทย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า แพร่ภาพออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ ทุกวันที่ ๒๓ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันปิยมหาราช พร้อมทั้งทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง เพื่อแสดงความรำลึก ถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ทรงดนตรีไทยร่วมกับคณะนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงดนตรีไทยร่วมกับคณะนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

นอกจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงศึกษาดนตรีไทยแล้ว ยังทรงศึกษาดนตรีสากลด้วย พระอาจารย์คนแรก ที่ถวายการสอนดนตรีสากล คือ อาจารย์มาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช ถวายการสอนเปียโน ขณะมีพระชนมายุ ๑๐ พรรษา อีก ๒ ปีต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขอพระราชทานพระราชานุญาต เรียนภาษาฝรั่งเศส แทนการเรียนเปียโน

ทรงทรัมเปต

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฝึกเครื่องดนตรีสากล ประเภทเครื่องเป่า จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนสามารถทรงทรัมเปตโซโล นำวงดุริยางค์ ในงานคอนเสิร์ตสายใจไทย และทรงระนาดฝรั่ง นำวงดุริยางค์ ในงานกาชาดคอนเสิร์ต “...ข้าพเจ้าเคยหัดเล่นดนตรีมาหลายอย่างตั้งแต่เด็กเริ่มจากเปียโน แล้วก็มาสนใจดนตรีไทย...นอกจากเรียนดนตรีไทยแล้ว ข้าพเจ้าหัดเล่นทรัมเปต บีแฟลตในวงแตรวง (สมัครเล่น) เล่นได้ทั้งเพลงไทยและเพลงสากล ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าอ่านโน้ตสากลได้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังชอบฟังเพลงโยธวาทิตมาตั้งแต่ยังเด็กๆ...”

ในปี ๒๕๑๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ได้ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ดนตรีเป็นครั้งแรก ทรงเห็นว่าพิพิธภัณฑ์นี้จัดได้ดีมาก เครื่องดนตรีที่จัดแสดงมีคำบรรยายประกอบ และยังจัดพิมพ์หนังสือ แสดงเรื่องราวของเครื่องดนตรี ที่จัดแสดงอย่างละเอียด ให้ความรู้ความซาบซึ้งแก่ผู้มาชมได้เป็นอย่างดี ต่อมาได้ทอดพระเนตร พิพิธภัณฑ์ดนตรีที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง ทำให้มีพระราชดำริเห็นว่าประเทศไทย ก็ควรคิดจัดพิพิธภัณฑ์ดนตรี เพื่อให้ความรู้เรื่องศิลปะประจำชาติ แก่ผู้สนใจทั่วไปเช่นเดียวกัน