ภาษาไทย
จากการที่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสอนภาษาไทยแก่พระราชโอรสและพระราชธิดา โดยทรงอ่านวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ พระราชทาน เช่น พระอภัยมณี อิเหนา และรามเกียรติ์ จากนั้น มีรับสั่งให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงคัดบทกลอนต่าง ๆ จนทรงท่องจำได้หลายตอน เป็นเหตุให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดวิชาภาษาไทย เมื่อทรงศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ทรงได้รับการถ่ายทอดความรู้ทางภาษา วรรณคดี และศิลปะไทย จากอาจารย์กำชัย ทองหล่อ มากที่สุด จึงทรงเชี่ยวชาญทั้งหลักภาษา วรรณคดีไทย การแต่งคำประพันธ์เกี่ยวข้องกับศิลปะด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม การขับร้อง ดนตรี และนาฏศิลป์ไทย เมื่อทรงเข้าศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ ทรงศึกษาวิชาบังคับภาษาไทยระดับต้นในชั้นปีที่ 1 และ 2 วิชาที่ทรงศึกษาแบ่งเป็นวิชาทางภาษาและวรรณคดี วิชาทางภาษาเป็นเรื่องการใช้ภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียน การใช้ภาษาในสถานการณ์ต่าง ๆ ราชาศัพท์ และการวิเคราะห์ภาษาตามแนวภาษาศาสตร์ทั้งระบบเสียงและระบบไวยากรณ์ วิชาทางวรรณคดีโดยมากเรียนเป็นหมวด แต่ละหมวดต้องอ่านพิจารณาด้วยตนเอง เช่น วรรณคดีนิทาน อ่านพระอภัยมณีในห้องบรรยาย เรื่องอื่น ๆ อ่านนอกเวลา แต่สอบเนื้อหาครอบคลุมทั้งหมด
ในการศึกษาระดับปริญญาตรี ทรงเลือกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก วิชาภาษาไทย วิชาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเป็นวิชาโท สำหรับวิชาภาษาไทยชั้นสูงนี้ ทรงศึกษาละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งด้านภาษาและวรรณคดี เช่น การอ่านศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มหาชาติคำหลวง และปฐมสมโพธิกถา ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พระอาจารย์ผู้ถวายการสอนภาษาไทยและภาษาสันสกฤตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงพระปรีชาสามารถด้านภาษาไทยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า ทรงเป็นผู้ดำรงรักษามาตรฐานของภาษาไทยได้อย่างดียิ่ง เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของพระองค์ คือ ทรงใช้ภาษาง่าย ๆ ไม่ทรงใช้ศัพท์หรูหราหรือเข้าใจยาก และไม่โปรดการแทรกภาษาฝรั่ง นอกจากจำเป็นจริง ๆ เมื่อเป็นศัพท์เฉพาะที่ยังมิได้มีการบัญญัติภาษาไทย หรือมิฉะนั้นก็เป็นชื่อสถานที่และอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องกล่าวเท่านั้น เกือบทั้งสิ้นเป็นคำนาม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระทัยเรื่องนวัตกรรมการศึกษาอันเป็นการพัฒนาการเรียนการสอนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ในการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ทรงทำปริญญานิพนธ์ เรื่อง การพัฒนานวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อันเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า เข้าพระทัยการเรียนการสอนภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะปัญหาการเรียนการสอนภาษาไทย ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากนักเรียนไม่ค่อยสนใจเรียนภาษาไทย และไม่มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทยอย่างเพียงพอ จึงได้ทรงพัฒนานวัตกรรมซึ่งประกอบด้วยบทเรียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองที่มีความหลากหลายทั้งเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนการสอนพร้อมทั้งคำอธิบายเนื้อหาและคำอธิบายศัพท์ รวมทั้งสำนวนอย่างละเอียด ได้พระราชทานข้อสังเกตว่า การอ่านออกเสียงให้ชัดเจนถูกต้อง คล่องแคล่ว มีความสำคัญมาก นักเรียนควรได้ฝึกการอ่านและการเขียนหนังสือให้เป็นระเบียบ สวยงาม ถูกต้อง ฝึกเขียนเรียงความ เขียนวิเคราะห์ นอกจากนี้ ได้พระราชทานคำแนะนำในการเรียนการสอนภาษาไทยว่า การพัฒนานวัตกรรมช่วยให้ครูสอนง่ายขึ้น และช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถเพิ่มพูนขึ้น ควรมีวิธีสอนและสื่อการสอนที่เหมาะกับวัย และควรให้นักเรียนได้รับความรู้ที่สืบเนื่องกับเนื้อหาในบทเรียนด้วย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้กว้างขวาง สามารถนำไปบูรณาการให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายทอดความรู้ ทั้งโดยการพูดและการเขียน มีเนื้อหาสาระและวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ สอดแทรกพระอารมณ์ขัน และทรงใช้ภาษาไทยที่ดี มีจินตภาพ นอกจากนี้ ยังทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาไทย โดยทรงตั้งข้อสังเกตว่า นักเรียนสมัยนี้สนใจอ่านอะไรสั้น ๆ ไม่ค่อยมีสมาธิในการอ่านหนังสือ หรือฟังความยาว ๆ ให้เข้าใจ การสอนเด็กให้อ่านนั้น มีพระราชวินิจฉัยว่า ถ้าเด็กอ่านหนังสือได้เร็วโดยไม่บังคับจะเป็นการดี และการสอนหนังสือเด็กเป็นคำ ๆ ทำให้เด็กไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน ในวาระที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทูลเกล้า ฯ ถวายปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้ประกาศสดุดีพระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถด้านการใช้ภาษาไทย ความตอนหนึ่งว่า