ภาษาอังกฤษ



                    ในช่วงเวลาที่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังไม่ใคร่สนพระทัยวิชาภาษาอังกฤษ จึงทรงสอบได้คะแนนไม่ดีนัก ต่อมา ได้ทรงฟังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง ทำไมคนเราต้องเรียนภาษาอังกฤษ และได้ทรงเรียนพิเศษเพิ่มเติม โดยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถทรงสอนเอง ทั้งให้ทรงอ่านหนังสือ พระราชทานสมุดให้จดศัพท์ และทรงฝึกฝนท่องคำศัพท์ จึงทรงพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาษาอังกฤษดีขึ้นโดยลำดับ

                    อาจารย์กำชัย ทองหล่อ ซึ่งเชี่ยวชาญภาษาไทยทั้งด้านหลักภาษาและวรรณคดี ทั้งมีความรู้ภาษาบาลีเป็นเยี่ยม ได้ถ่ายทอดความรู้ทางภาษา วรรณคดีและศิลปะไทยแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดอายุขัยของท่าน ในขณะที่ศาสตราจารย์หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ ถวายพระอักษรภาษาสันสกฤต โดยใช้ A Sanskrit Primer ของ Perry เป็นตำราไวยากรณ์ และใช้ A Sanskrit Reader ของ Lanman เป็นบทอ่าน

                    ขณะทรงศึกษาในโรงเรียนจิตรลดา นอกจากทรงพระนิพนธ์บทกวีภาษาอังกฤษ เรื่อง My friend … “Fish” แล้ว พระองค์ยังทรงพระนิพนธ์เรียงความภาษาอังกฤษไว้ ๖ เรื่อง อันแสดงถึงพระจินตนาการ พระอารมณ์ขัน และความละเอียดในการรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ Advertisement for slimming pills, Advertisement for wigs for women and men, The View From My Bedroom Window, An Imaginary Trip, Dialogue between a boy and his father/grandfather about long hair, Pra Ruang

                    ในการฝึกฝนพัฒนาทักษะการพูด ฟัง เขียน ภาษาอังกฤษ ทรงอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเสมอ นอกจากนี้ เครื่องมือที่ช่วยเสริมทักษะภาษาอังกฤษอีกอย่างหนึ่ง คือ รายการวิทยุ ทรงฟังรายการวิทยุของบีบีซี ประเทศอังกฤษ

                    ใน พ.ศ. 2526 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแปลหนังสือภาษาอังกฤษและบทความภาษาอังกฤษ พระราชทานแก่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา โดยทรงใช้พระนามแฝง ว่า บันดาล หนังสือชื่อ กำเนิดอนาคต โดย บันดาล (นามแฝง) แปลจาก Where the Future Begins (พ.ศ. 2525) ของ Amadou Mahtar M’Bow (อะมาดู – มาห์ตาร์ เอ็มโบว์) ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกในช่วงนั้น ทรงใช้เวลาแปล 13 วัน (30 พฤษภาคม – 11 มิถุนายน 2526) รวม 64 หน้า แต่พิมพ์เผยแพร่ในเดือนเมษายน 2528

                   บทความพระราชนิพนธ์แปล ได้ลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ยูเนสโกคูริเย ฉบับแปลภาษาไทย ทรงแปลทั้งเนื้อหาและคำบรรยายภาพ บทความเหล่านี้ ได้แก่ กำเนิดอนาคต การศึกษาเพื่อมวลชน ศาสนสถานในพุทธศาสนาของอินโดนีเซีย เทศนาในก้อนศิลา เขาอนุรักษ์บุโรพุทโธกันอย่างไร

                   ใน พ.ศ. 2534 มูลนิธิรามอน แมกไซไซ ทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการชุมชนประจำปี 2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงเสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึงวันที่ 2 กันยายน 2534 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลฟิลิปปินส์ การเสด็จ ฯ ครั้งนี้ นอกจากเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ให้แน่นแฟ้นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นด้วย

                   วันที่ 30 สิงหาคม 2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ไปยังที่ทำการอาคารมูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซ เพื่อทรงแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ประกอบสไลด์ ในหัวข้อเรื่อง My Experience in Community Development in Thailand. การได้โดยเสด็จ ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ไปในที่ต่าง ๆ ทำให้พระองค์ได้ทรงเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นทฤษฎีการพัฒนาประเทศ ทรงถ่ายทอดสิ่งที่ทรงเรียนรู้เป็นภาษาอังกฤษที่ง่ายต่อการเข้าใจ

                   ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม 2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ไปยังศูนย์วัฒนธรรมฟิลิปปินส์ เพื่อทรงร่วมงานทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลรามอน แมกไซไซ และมีพระราชดำรัสตอบขอบใจมูลนิธิ ฯ ในการทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลรามอน แมกไซไซ ในการนี้ ทรงพระราชนิพนธ์พระราชดำรัสด้วยพระองค์เอง จึงเห็นได้ว่า บทพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษและพระราชดำรัสภาษาอังกฤษที่อัญเชิญมาเป็นตัวอย่าง ล้วนแต่ยืนยันพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ในหนังสือ มณีพลอยร้อยแสง ที่ว่า

“…ถ้าเรารู้ภาษา รู้จักการใช้ภาษาที่ดี ก็จะสามารถเอาความรู้ของคนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ่ายทอดให้ผู้อื่นรู้ หรือโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้อื่นคล้อยตามความคิดของตนได้…”