ภาษาเยอรมัน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระทัยภาษาเยอรมันมาตั้งแต่ยังทรงเป็นนิสิต เนื่องจากในระยะเริ่มแรก ทรงมีพระราชดำริว่าหลังจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว จะเสด็จ ฯ ไปศึกษาต่อทางสายวิชาการเกษตรหรือภูมิศาสตร์การเกษตรที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพราะมีผู้ถวายคำแนะนำว่า หลักสูตรวิชาดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีชื่อเสียง จึงทรงเริ่มศึกษาภาษาเยอรมันกับครูเยอรมันที่ทางสถาบันเกอเธ่จัดถวาย แต่ทรงศึกษาอยู่เพียงระยะสั้น ๆ เนื่องจากครูผู้สอนเดินทางกลับประเทศ ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาว่าจะทรงศึกษาต่อในประเทศไทย จึงทรงหยุดเรียนภาษาเยอรมัน
ต่อมา เมื่อทรงศึกษาต่อทางสายวิชาภาษาตะวันออก สาขาภาษาบาลีและสันสกฤต ทำให้ทรงทราบว่า ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีการศึกษาวิจัยทางด้านภาษาและวรรณคดีสันสกฤตอย่างกว้างขวาง นักวิชาการสายภาษาตะวันออกที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน จึงทำให้ทรงสนพระทัยภาษาเยอรมันอย่างจริงจัง เพื่อจะได้ทรงอ่านหนังสือภาษาเยอรมันเกี่ยวกับภาษาสันสกฤตได้ ประกอบกับทรงมีพระสหายและอาจารย์ชาวเยอรมันหลายคนที่ทรงติดต่อด้วยเป็นประจำ และทรงมีหนังสือภาษาเยอรมันที่มีผู้ส่งมาถวายเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ จึงทรงเริ่มเรียนภาษาเยอรมันอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2530 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. อำภา โอตระกูล จากภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรภาษาเยอรมันเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงตั้งแต่นั้นมา หากแต่ทรงมีพระราชภารกิจจึงทำให้ทรงต้องงดเรียนบ่อย ๆ หากนับชั่วโมงเรียนจริง ๆ แล้วมีไม่มากนัก
พระราชประสงค์หลักในการเรียนระยะแรก คือ ทรงต้องการทราบลักษณะภาษาเพื่อการเปรียบเทียบและเพื่อการอ่าน จึงทรงเน้นฝึกฝนการอ่าน แต่เมื่อได้ทรงอ่านมากขึ้น ความสนพระทัยก็ขยายจากเรื่องของภาษาไปสู่เรื่องประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศิลปะและวัฒนธรรมของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทำให้ทรงมีความรู้รอบ ทรงเล็งเห็นความเหมือนและความแตกต่างของโลกตะวันตกและตะวันออกในทางศิลปวัฒนธรรมชัดกว้าง รวมทั้งทรงสามารถเปรียบเทียบได้ เช่น ทรงเปรียบเทียบกวีนิพนธ์เยอรมันกับกวีนิพนธ์จีนที่ทรงศึกษาอยู่ได้อย่างน่าสนใจ
ด้วยความสนพระทัยในประเทศเยอรมนี ทั้งด้านภาษา วรรณคดี แนวความคิด ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และพัฒนาการสังคม ในปีพุทธศักราช 2545 จึงเสด็จ ฯ ไปทรงพระอักษรภาษาเยอรมันที่เมืองเกิตติงเงน (Gottingen) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นระยะเวลา ๓ สัปดาห์ และได้เสด็จ ฯ ไปทรงดูงานและเยี่ยมชมสถานที่สำคัญหลายแห่ง ช่วยให้ทรงมีโอกาสได้ใช้ภาษาเยอรมันและทรงได้รับความรู้ที่กว้างขวางขึ้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความรู้ทางภาษาเยอรมันเป็นอย่างดี ทรงรู้จักวรรณคดีเยอรมันอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน ทรงเข้าพระทัยเรื่องประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมเยอรมัน ทรงสนพระทัยอ่านบทความใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ การเสด็จประพาสสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในระยะหลัง ทำให้ทรงมีความรู้เรื่องภูมิศาสตร์และความเป็นอยู่ของชาวเยอรมันมากขึ้นและได้ทรงฝึกภาษาเยอรมันในสถานการณ์จริงมากขึ้น จนทรงสามารถสนทนาโต้ตอบกับชาวเยอรมันได้บ่อยครั้ง พระองค์ได้พระราชทานสัมภาษณ์เป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งสร้างความปีติยินดีแก่สื่อมวลชนเยอรมันโดยทั่วไป นับว่าได้ทรงทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีระหว่างประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นอย่างดี