ภาษาฝรั่งเศส
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าพระราชทานถึงความสนพระทัยภาษาฝรั่งเศสไว้ในคำนำหนังสือ ความคิดคำนึง (Réflexions) พิมพ์ครั้งที่ 7 ความตอนหนึ่งว่า
ศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร เป็นพระอาจารย์พิเศษ ถวายพระอักษรภาษาฝรั่งเศสประมาณปีเศษจนเข้าพระทัยดี จึงทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศสทั้งภาษา วรรณคดี และประวัติศาสตร์กับ Madame Annie Babin จากสมาคมฝรั่งเศส มาดามบาแบงให้ทรงพระราชนิพนธ์ความเรียงและกวีนิพนธ์แบบต่าง ๆ ตามแบบแผนการประพันธ์ของกวีและนักประพันธ์ฝรั่งเศส แต่เนื้อหาจะเป็นเรื่องใดก็ได้ตามพระทัย
ในพุทธศักราช 2514 ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนจิตรลดา ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีฝรั่งเศส บทแรกเรื่อง L’araignée (แมงมุม) หลังจากนั้นทรงพระราชนิพนธ์บทกวีฝรั่งเศสเรื่องอื่นๆ อาทิ L’aube (รุ่งอรุณ) Les champs de riz (นาข้าว) En attendant une visite (ยามรอคอยผู้มาเยือน) Les fleurs de la terre (ดอกไม้ดิน) Ombre mystérieuse (เงาลึกลับ) เป็นต้น
ในพุทธศักราช 2516 ทรงเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังทรงเรียนการแต่งบทกวีภาษาฝรั่งเศสกับมาดามบาแบง จนถึง พ.ศ. 2519 ในระหว่าง พ.ศ. 2517.2519 ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีฝรั่งเศสไว้อีกหลายบท อาทิ Hibou (นกฮูก) Ignorance (ความไม่รู้) Lune (พระจันทร์) Retour (การกลับมา) Le temps qui passe (กาลเวลาที่ผ่านเลย) เป็นต้น
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2520 มิได้ทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศส และมิได้ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีฝรั่งเศส จนถึง พ.ศ. 2525 จึงทรงพระราชนิพนธ์บทกวีฝรั่งเศส เรื่อง Châteaux de sable (ปราสาททราย)
จากพระราชนิพนธ์บทกวีภาษาฝรั่งเศสทั้ง 21 บทนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแปลด้วยพระองค์เอง 14 บท ได้แก่ แมงมุม รุ่งอรุณ ดอกไม้ดิน เงาลึกลับ ลำนำหญ้า นกฮูก ความไม่รู้ พระจันทร์ การกลับมา กาลเวลาที่ผ่านเลย เพลงจากใจเพื่อผู้อ่าน ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เดินตามรอยเท้าพ่อ และแสงอาทิตย์อันแจ่มใส
นอกจากนั้น ยังทรงพระราชนิพนธ์บทกวีภาษาฝรั่งเศสอีก 2 เรื่อง ในหนังสือประจำปีโรงเรียนจิตรลดา ฉบับวันที่ 24 มีนาคม 2516 คือ Le Palais Chitrlada และ Les rizières au crépusculeอนอกจากนั้นยังทรงแปลบทความทางวิชาการเรื่อง จารึกปราสาทหินพนมวัน เป็นภาษาฝรั่งเศสชื่อ Une nouvelle inscription de Prasad Bnam Van (Pra : sà:t Phnom Wan) และทรงแปลวรรณกรรมฝรั่งเศส เรื่อง Rossignols en Cage ของ Madeleine Treherne เป็นภาษาไทยโดยใช้ชื่อเรื่อง ขบวนการนกกางเขน
เมื่อทรงศึกษาภาษาจีนและบทกวีจีน พระอาจารย์ภาษาจีนให้ทรงทำการบ้านแปลบทกวีจีนเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศส แล้วแต่พื้นความรู้ภาษาต่างประเทศของพระอาจารย์ ในการแปลบทกวีจีน ทรงแปลเป็นภาษาไทย แล้วลอกใส่ไว้ในสมุดจดการเรียนด้วย