ภาษาจีน


“... เรียนภาษาจีนซิ เรียนให้ได้นะ...”

                    จากพระราชกระแสในสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ. 2523 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจึงทรงตัดสินพระทัยศึกษาภาษาจีนแทนภาษาเยอรมัน โดยทรงมีพระอาจารย์ภาษาจีนคนแรก คือ ศาสตราจารย์จังเยี่ยนชิว แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ท่านเชี่ยวชาญทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ อาจารย์จังเยี่ยนชิวเน้นการฝึกฝนการออกเสียงก่อนสอนให้รู้จักตัวอักษรจีน ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงศึกษาภาษาจีนได้เกือบหนึ่งปี จึงได้เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2524 ทรงรู้ภาษาจีนพอสมควร เมื่อเสด็จ ฯ กลับมา ทรงศึกษาภาษาจีนกับพระอาจารย์คนใหม่ คือ จี้หนานเซิง ผู้ซึ่งถวายพระอักษรภาษาจีนโดยให้ทรงแปลบทกวีนิพนธ์จีนและถวายความรู้เรื่องจิตรกรรมจีน พระอาจารย์คนที่สาม คือ อาจารย์ฟู่อู่อี้ ซึ่งได้ถวายการสอนการอ่านทำนองเสนาะบทกวีจีน ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2523-2547 ทรงมีพระอาจารย์สอนภาษาจีนรวม 11 คน

                    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปรารภว่า “ภาษาจีนนี่ยาก” เพราะทรงศึกษาเมื่อพระชนมายุ 26 พรรษาแล้ว และมีพระราชภารกิจมากทำให้ทรงศึกษาไม่ต่อเนื่อง และยังทรงเรียนบ้างหยุดบ้าง ทรงศึกษาภาษาจีนเพียงสัปดาห์ละหนึ่งวัน คือ วันเสาร์ (เวลา 09.00-12.00 น.) เมื่อทรงศึกษาได้ไม่ต่อเนื่อง พระอาจารย์คนที่ห้า คือ หวังเยี่ย คิดวิธีเรียนทางไกล โดยถวายบทเรียนที่จะสอน เขียนคำศัพท์ การอ่านออกเสียง พร้อมทำคำอธิบายประกอบ แล้วให้ทรงทำการบ้านส่งให้พระอาจารย์ตรวจ

                    ระหว่าง พ.ศ. 2525-2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเรียนและโปรดกวีนิพนธ์จีนมาก ทรงเล่าพระราชทานถึงวิธีเรียนบทกวีไว้ในคำนำของหนังสือบทพระราชนิพนธ์แปล เรื่อง หยกใสร่ายคำ ว่า “ทรงศึกษาสัปดาห์ละบทหรือ 2 บท พระอาจารย์จะเล่าประวัติกวี เหตุการณ์สมัยนั้น อธิบายสาระของบทกวี คำยาก ให้ทรงหัดอ่านและทรงแปล” พระราชนิพนธ์แปลบทกวีจีน หยกใสร่ายคำ ได้ถูกจัดพิมพ์เผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2541 หลังจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพิจารณาตรวจชำระบทกวีจีน 34 บทที่ทรงแปลไว้

                    เมื่อทรงพักการศึกษาร้อยกรองและการแปลบทกวีจีน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาภาษาจีนเป็นร้อยแก้ว และทรงแปลนวนิยายจีน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่อง ผีเสื้อ ซึ่งทรงแปลจากนวนิยายเรื่อง หูเตี๋ย ของหวังเหมิง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมจีน ช่วง พ.ศ. 2492-2522 เรื่องหูเตี๋ยนี้ พระอาจารย์หวังเยี่ยสอนให้ทรงอ่านและทรงแปล พระอาจารย์คนต่อมาคืออาจารย์กู้หยาจ่ง ซึ่งมีความรู้ภาษาไทย ได้ตรวจสอบฉบับแปลภาษาไทยให้ เรื่องที่สอง คือ เมฆเหิน น้ำไหล ทรงแปลจากเรื่อง สิงอวิ๋นหลิวสุ่ย ของฟังฟัง นักเขียนสตรีรุ่นใหม่ในกลุ่มแนวหน้า ซึ่งสะท้อนภาพสังคมจีนที่เปลี่ยนแปลงไปในทางวัตถุมากขึ้นหลังยุคการเปิดประเทศจีนและใช้นโยบายสี่ทันสมัย

                    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า จะศึกษาประวัติศาสตร์หรือค้นคว้าเรื่องของประเทศใดก็ตาม ควรจะรู้ภาษาของชาตินั้นด้วย ดังนั้นเมื่อทรงรู้ภาษาจีน จึงเสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนหลายครั้ง เพราะแต่ละครั้งที่เสด็จ ฯ ไป ก็ทรงได้รับความรู้เพิ่มเติม จึงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จ ฯ ไปในที่ที่ไม่เคยไปเพราะสาธารณรัฐประชาชนจีนกว้างใหญ่ไพศาล แต่ละสถานที่แตกต่างกันทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม

                    ด้วยพระปรีชาสามารถด้านภาษาจีน ความสนพระทัยในจีนคดีศึกษา พระราชนิพนธ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับจีน พระราชนิพนธ์ที่แปลเป็นภาษาจีน และความเป็นนักวิชาการใฝ่ศึกษาค้นคว้า กระทรวงศึกษาธิการจีน จึงได้ทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีน (The Chinese Language and Cultural Friendship Award) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2543 แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระองค์แรก ขณะเดียวกันชาวจีนเรียกขานพระองค์ว่า ซือหลินทงกงจู่ (ซือ แปลว่าบทกวี หลิน แปลว่าหยกสวยงาม ทง แปลว่าปราดเปรื่อง กงจู่ แปลว่าเจ้าหญิง)

                    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ไปทรงเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคม 2548 ในการนี้ กระทรวงศึกษาจีนรับภาระค่าใช้จ่าย ที่พัก ค่าเล่าเรียนและอาหารการกินในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยจัดตารางสอนตามพระราชประสงค์ กล่าวคือ สอนภาษาจีนในเรื่องการอ่าน การเขียน การพูด การรำมวยจีนไทเก็ก การเขียนภาพจีน การเขียนตัวหนังสือ การสีซอเอ้อร์หู การเขียนพู่กันจีน ซึ่งทำให้ทรงรู้จักรัตนะทั้ง 4 ในห้องหนังสือ อันประกอบด้วยพู่กัน แท่นฝนหมึก แท่นหมึก และกระดาษ

                    ในเดือนสิงหาคม 2544 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน (ทิเบต ชิงไห่ หนิงเซี่ย) ในการนี้ มูลนิธิวรรณกรรมแห่งชาติจีนและสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีนได้ทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลวรรณกรรมเพื่อความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประเทศ ณ มหาศาลาประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 24 สิงหาคม 2544 มูลนิธิวรรณกรรมแห่งชาติจีนจัดตั้งรางวัลดังกล่าว เพื่อมอบให้บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศ เผยแพร่วัฒนธรรมของประชาชาติจีน ส่งเสริมความเข้าใจอันดีของประชาคมโลกที่มีต่อจีน และกระชับความร่วมมือและมิตรภาพระหว่างประเทศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นมิตรชาวจีนคนที่สามที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลวรรณกรรมเพื่อความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประเทศ