ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต


                    ศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล กล่าวถึงเหตุที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระทัยภาษาบาลีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ว่า

“…ไม่สามารถเข้าพระทัยบทสวดมนต์ที่เป็นภาษาบาลีที่ทรงได้ยินได้ฟังอยู่เป็นประจำ ทำให้มีพระราชประสงค์ที่จะทรงศึกษาตั้งแต่ครั้งนั้น แต่มีโอกาสศึกษาจริง ๆ ก็เมื่อทรงเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีครูกำชัย ทองหล่อ เป็นพระอาจารย์ถวายภาษาบาลีเป็นคนแรก รับสั่งว่า สนพระทัยวิชานี้มาก สามารถจำการแจกวิภัตติเบื้องต้นที่สำคัญได้แทบทั้งหมด และเข้าพระทัยโครงสร้างและลักษณะทั่วไปของภาษาบาลีมาตั้งแต่ครั้งนั้น…”

                    อาจารย์กำชัย ทองหล่อ ซึ่งเชี่ยวชาญภาษาไทยทั้งด้านหลักภาษาและวรรณคดี ทั้งมีความรู้ภาษาบาลีเป็นเยี่ยม ได้ถ่ายทอดความรู้ทางภาษา วรรณคดีและศิลปะไทยแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดอายุขัยของท่าน ในขณะที่ศาสตราจารย์หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ ถวายพระอักษรภาษาสันสกฤต โดยใช้ A Sanskrit Primer ของ Perry เป็นตำราไวยากรณ์ และใช้ A Sanskrit Reader ของ Lanman เป็นบทอ่าน

                    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเลือกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก วิชาภาษาไทยและวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นวิชาโท ในส่วนของภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาไวยากรณ์พื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง และทรงอ่านวรรณคดีพุทธศาสนา วรรณคดีสันสกฤต ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบดั้งเดิมของไทย คือ แบบที่เล่าเรียนกันในพระอารามต่าง ๆ และแบบภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นวิธีการตะวันตก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐานิสร์ ชาครัตพงศ์ เป็นผู้ถวายพระอักษรแบบดั้งเดิม

                    ศาสตราจารย์หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา และศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล ถวายพระอักษรแบบตะวันตก เมื่อทรงศึกษาต่อขั้นปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต พระอาจารย์ทุกท่านที่เอ่ยนาม ยังคงถวายพระอักษร ต่อมา รัฐบาลอินเดียได้ส่งศาสตราจารย์ ดร. สัตยพรต ศาสตรี มาถวายพระอักษรภาษาสันสกฤตตามวิธีการอินเดียโบราณเป็นพิเศษ และนาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง ได้ถวายพระอักษรภาษาบาลีด้วย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประกาศยกย่องวิทยานิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท ว่า “…มิใช่เป็นเพียงวิทยานิพนธ์เพื่อประกอบการศึกษาตามหลักสูตรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลงานที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถในภาษาบาลีพุทธวจนะเป็นพิเศษ…” นอกจากจะทรงศึกษาภาษาสันสกฤตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงศึกษาขั้นปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงทรงรอบรู้ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตในจารึกที่พบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิทยานิพนธ์เรื่อง จารึกที่พบที่ปราสาทพนมรุ้ง เป็นงานวิจัยที่พระองค์ทรงแปลจารึกภาษาเขมรและภาษาสันสกฤต โดยมีศาสตราจารย์ ดร. สัตยพรต ศาสตรี ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต และศาสตราจารย์โคลด ชาร์ค ผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึก ร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ซึ่งได้วิจารณ์ว่า “…วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นงานที่ยากและดีมาก เขียนอย่างมีระเบียบและมีวิธีการวิจัยที่ดี…” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงวิธีการและประโยชน์ของการศึกษาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ไว้ว่า

“…การเรียนภาษาบาลีสันสกฤตนั้น เราไม่ได้เรียนแต่ตัวอักษรอย่างเดียว เราเรียนเนื้อหาด้วย เรียนภาษาบาลีก็ได้เรียนรู้เรื่องราวแนวคิดทางพุทธศาสนา สันสกฤตก็ได้เรียนเรื่องวัฒนธรรมของผู้ที่ใช้ภาษาสันสกฤต มีเนื้อหาต่าง ๆ กัน ได้ความรู้ หลักปรัชญา สังคม การเมือง กฎหมาย ศิลปะ คณิตศาสตร์ ฯลฯ ของสมัยนั้น บางทีก็ทำให้รู้ว่า แนวคิดบางอย่างที่ถือว่าเป็นสมัยใหม่นั้นที่จริงได้มีมาแล้วและเขาเลิกไปแล้ว ประโยชน์สำคัญอีกประการที่ได้จากการเรียนบาลีสันสกฤต คือ ได้พบปะเสวนากับครูบาอาจารย์หลายท่านที่ทรงคุณธรรม เป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพ ท่านเหล่านี้นอกจากจะสอนวิชาการแล้ว ยังชี้ทางชีวิตที่ถูกต้อง เช่น เรื่องความซื่อตรง เรื่องความเมตตา เป็นต้น ถือเป็นมงคลอันอุดมในการได้เสวนากับบัณฑิต…”