ภาษาเขมร


                    ภาษาเขมร เป็นภาษาตะวันออกอีกภาษาหนึ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีสนพระทัย ทรงเริ่มศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ทรงหัดเรียนภาษาบาลี อ่านเขียนอักษรขอม ด้วยทรงเห็นว่าในสมัยนั้นผู้ที่จะเรียนภาษาไทยให้กว้างขวางลึกซึ้งจะต้องเรียนทั้งภาษาบาลี สันสกฤต และเขมร เพื่อให้เข้าใจที่มาของศัพท์ที่นำมาใช้ในภาษาไทย และเข้าใจในแนวคิดที่มีในวรรณคดีไทย

                    ขณะที่ทรงเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ชั้นปีที่สอง ทรงศึกษาเพิ่มเติมภาษาเขมรกับศาสตราจารย์ ดร. อุไรศรี วรศะริน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักอ่านจารึกโบราณชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก ดร. อุไรศรีได้ถวายการสอนภาษาเขมรปัจจุบัน เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาภาษาเขมรโบราณ และภาษาสันสกฤตในจารึกเขมรโบราณ นอกจากนั้นแล้วในชั้นเรียนปกติที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ทรงเรียนภาษาเขมรด้วย โดยพระอาจารย์ผู้ถวายการสอนภาษาเขมรเบื้องต้น คือ ศาสตราจารย์ ดร. กาญจนา นาคสกุล

                    ระหว่างที่ทรงศึกษาเพิ่มเติมภาษาเขมรกับศาสตราจารย์ ดร. อุไรศรี นั้น พระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาเขมร ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่นักวิชาการด้านการอ่านจารึกโบราณและเขมรศึกษา ทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงศึกษาตัวอักษรเขมรและภาษาเขมรที่ใช้ในจารึกได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมาก ศาสตราจารย์ ดร. อุไรศรี จึงถวายสำเนาจารึกภาษาเขมรโบราณที่พบใหม่จากปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา ให้ทรงลองอ่านและทรงแปล แม้จะเป็นการทรงอ่านและทรงแปลจารึกเขมรโบราณเป็นครั้งแรก ก็ทรงวิเคราะห์ตัวอักษรและภาษาเขมรในจารึก พร้อมทั้งทรงอ่านและทรงแปลความในจารึกได้ดีและได้ความหมายถูกต้อง ทรงพระราชนิพนธ์ผลงานชิ้นนี้เป็นบทความภาษาไทย ชื่อเรื่องว่า จารึกปราสาทพนมวัน และเป็นบทความภาษาฝรั่งเศส ชื่อเรื่องว่า Une nouvelle inscription de Prasad Bnam Van บทความพระราชนิพนธ์เรื่อง จารึกปราสาทพนมวัน นี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและราชอาณาจักรกัมพูชาในรัชสมัยของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (ราว พ.ศ. 1432-1443)

                    หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2519 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก ที่ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้ทรงศึกษารายวิชาภาษาเขมรและความรู้เรื่องเกี่ยวกับเขมรหลายวิชา ที่สำคัญ ได้แก่ วิชาจารึกและอักขรวิธีโบราณ วิชาจารึกภาษาเขมรสมัยก่อนพระนคร วิชาจารึกภาษาเขมรสมัยพระนคร วิชาจารึกภาษาเขมรสมัยหลังพระนคร วิชาระบบเสียงภาษาเขมร วิชาไวยากรณ์ และระบบหน่วยคำภาษาเขมร วิชาคำเขมรในภาษาไทย วิชาหลักภาษาและสนทนาภาษาเขมร วิชาวรรณกรรมเขมรปัจจุบันรวมทั้งวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเขมร

                    ทรงใช้เวลาในการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยศิลปากรเพียงสองปี ก็ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาจารึกภาษาตะวันออก ทรงทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีพระราชประสงค์ที่จะทรงอ่านและทรงแปลจารึกภาษาเขมรและจารึกภาษาสันสกฤตที่พบที่ปราสาทพนมรุ้งทั้งหมด เพื่อทรงเสนอข้อมูลทางภาษาศาสตร์ สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ และศาสนาที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพนมรุ้งในสมัยโบราณ วิทยานิพนธ์เรื่องนี้แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทางด้านภาษาเขมร ภาษาสันสกฤต ความรู้เรื่องเขมร รวมทั้งความรอบรู้ในศาสตร์อื่น ๆ ที่พระองค์ทรงใช้เพื่อช่วยในการอ่านและทรงแปลความจากจารึกได้อย่างดียิ่ง เพราะนอกจากทรงอ่านและแปลจารึกที่พบที่ปราสาทพนมรุ้งได้ความหมายถูกต้องแล้ว ยังทรงเสนอความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม และสังคมวิทยาด้วย

                    ศาสตราจารย์ ดร. สัตยพรต ศาสตรี ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตจากมหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย และศาสตราจารย์โคลด ชาร์ค ผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกเขมรโบราณจากมหาวิทยาลัยซอร์บอน ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกรรมการตรวจวิทยานิพนธ์นี้ ต่างกล่าวตรงกันว่า

“…เป็นเรื่องยากมาก แต่ก็ทรงแปลได้ถูกต้อง” ศาสตราจารย์จอง บวสเซอลิเยร์ นักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะเขมร ซึ่งอ่านวิทยานิพนธ์ฉบับที่ทรงเป็นภาษาฝรั่งเศส ได้ส่งจดหมายถวายคำวิจารณ์ผ่าน ศาสตราจารย์ ดร. อุไรศรี สรุปความได้ว่า “…วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นงานที่ยากและดีมาก เขียนอย่างมีระเบียบและมีวิธีการวิจัยทีดี โครงร่างชัดเจนและคล้องจอง การเขียนแต่ละบทเขียนได้ชัดเจนถูกต้อง ตามระเบียบวิธีวิจัย…”

                    ใน พ.ศ. 2522 หลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ไม่นาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ได้มีพระราชกิจสำคัญคือ การสงเคราะห์ชาวเขมรที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ได้ทรงใช้ภาษาเขมรและนำความรู้เรื่องเขมรที่ทรงศึกษามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ได้เสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมเด็กกำพร้าเขมรอพยพ ณ สถานพักฟื้นสวางคนิวาส และได้เสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมและพระราชทานสิ่งของแก่ราษฎรตามแนวชายแดนตำบลบ้านแก้ง รวมทั้งได้เสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมผู้ลี้ภัยชาวเขมร ณ ศูนย์อพยพบ้านแก้ง อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี (ในปัจจุบันอำเภอสระแก้วเป็นจังหวัดสระแก้ว)

                    ในเวลาต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จ ฯ เยือนราชอาณาจักรกัมพูชา 3 ครั้ง หลังจากนั้นจึงทรงพระราชนิพนธ์ เรื่องเขมรสามยก ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ จารึกโบราณ รวมทั้งสถานที่สำคัญ ๆ ที่ได้เสด็จ ฯ ทอดพระเนตร อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับราชอาณาจักรกัมพูชาทั้งในอดีตและปัจจุบัน